สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
หลวงพ่อโหน่ง อินทสุวัณโณ วัดคลองมะดัน จ.สุพรรณบุรี อีกหนึ่งพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีตวัตถุมงคลของท่านล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “พระพิมพ์ซุ้มกอ” หาดูหาเช่าของแท้ยากยิ่ง
หลวงพ่อโหน่งเป็นชาวสุพรรณบุรีโดยกำเนิด เกิดที่บ้านสองพี่น้อง ต.ต้นตาล อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.2408
โยมบิดาชื่อโต โยมมารดาชื่อจ้อย มีนามสกุล โตงาม โดยถือกำเนิดในปีขาล พ.ศ.2433 เมื่ออายุ 24 ปี จึงได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง โดยมีพระอธิการจันทร์ เจ้าอาวาสวัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ดิษฐ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการสุต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “อินทสุวัณโณ” ซึ่งแปลว่า ผู้มีผิวกายดุจพระอินทร์ เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ค้นคว้าศึกษาพระธรรมวินัยจนรู้ซึ้งและแตกฉาน ออกเดินทางไปยังวัดทุ่งคอกด้วยเส้นทางที่ยากลำบาก เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์พระอธิการจันทร์ ผู้มีชื่อเสียงและกิตติศัพท์ด้านวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคมแขนงต่างๆ ต่อมาเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า พระเกจิชื่อดังสุพรรณบุรี ในระหว่างศึกษาอยู่กับหลวงพ่อเนียมก็ได้รู้จักกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเนียมเช่นกัน โดยหลวงพ่อโหน่งนับเป็นศิษย์รุ่นพี่ หลวงพ่อเนียมได้เคยปรารภกับหลวงพ่อปานว่า “ถ้าข้าตายแล้วสงสัยธรรมข้อใดให้ไปถามท่านโหน่งเขานะ เขาพอแทนข้าได้” แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญแตกฉานในพระธรรมวินัยและวิทยาการต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับของพระอาจารย์
เมื่อกลับมาจำพรรษาที่วัดสองพี่น้อง ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านเริ่มเป็นที่เล่าขานขจรไกลทั้งด้านวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคมต่างๆ จนล่วงรู้ไปถึงหลวงพ่อแสง เจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน อ.สองพี่น้อง ผู้เก่งกล้าในวิชาอาคมต่างๆ จึงเดินทางมาพบและสนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ จนมีความสนิทสนมกันมาก หลวงพ่อแสงได้ชักชวนท่านให้มาอยู่ด้วยกันที่วัดคลองมะดัน ซึ่งท่านก็ตอบตกลงด้วยความเต็มใจ และเมื่อหลวงพ่อแสงมรณภาพในปีพ.ศ.2454 ท่านจึงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคลองมะดันสืบต่อมา จากนั้นได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดและเสนาสนะต่างๆ สร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ พระวิหาร ฯลฯ จนวัดคลองมะดันเจริญรุ่งเรืองเป็นที่เชิดหน้าชูตา
ระหว่างนั้นหลวงพ่อปานก็ได้เดินทางมาสนทนาธรรมและแลกเปลี่ยนความรู้กับท่านอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ท่านยังมีความเกี่ยวพันกับพระเกจิชั้นผู้ใหญ่ซึ่ง เป็นคนพื้นบ้านสองพี่น้องเช่นเดียวกัน 2 รูป เมื่อครั้งอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง คือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จป๋า (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดโพธิ์ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 และเป็นพระอนุสาวนาจารย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (สด จันทสโร) แห่งวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หลวงพ่อโหน่งมรณภาพในปีพ.ศ.2477 สิริอายุรวม 69 ปี พรรษา 46
หลวงพ่อโหน่งเริ่มสร้างวัตถุมงคลตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครจำได้ แต่มีพระดินเผาอยู่องค์หนึ่ง จารึกด้านหลังว่า “พ.ศ.2461” จึงสันนิษฐานว่าท่านน่าจะเริ่มสร้างตั้งแต่พ.ศ. 2461 เพราะไม่ปรากฏพ.ศ.ที่เก่ากว่านั้นเลย
วัตถุมงคลของท่านเป็น “พระพิมพ์ ดินเผา” มีทั้งละเอียดและหยาบ ทั้งพระบูชา พระเครื่อง และมีมากมายหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์ซุ้มกอ พิมพ์ลีลา พิมพ์ขุนแผน พิมพ์พระสมเด็จสามชั้น พิมพ์ปรุหนัง พิมพ์งบน้ำอ้อย พิมพ์กลีบบัว พิมพ์พระตรีกาย พิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์ พิมพ์พระปิดตา พิมพ์นาคปรก พิมพ์ปางไสยาสน์ พิมพ์กำแพงศอก ฯลฯ แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ “พิมพ์ซุ้มกอ” ซึ่งมีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก ค่านิยมก็แตกต่างกันไปตามสภาพของวัตถุมงคล
พุทธคุณ โดดเด่นในด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน สำหรับเรื่องสนนราคาในหมู่นักสะสมที่แลกเปลี่ยนกันไม่มีที่ยุติ ขึ้นอยู่ที่ความพอใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แต่นักสะสมมือใหม่ หากอยากมีไว้ในครอบครองควรหา ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญก่อนจะตัดสินใจเช่าบูชา เพราะในปัจจุบันมีพระปลอม เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระใหม่หรือพระเก่าครับผม