ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
สังคมนี้จะน่าอยู่ถ้าผู้คนให้ความเคารพและให้เกียรติกันและกัน
ธิดาวดีดูแล “ทีมงาน” ในบริษัทด้วยความเคารพและให้เกียรติพวกเขาเสมอ เธอใช้คำว่า “ทีมงาน” กับพนักงานทุกคนในบริษัท เพราะเธอถือว่าทุกคนคือ “หุ้นส่วน” ของบริษัท และน่าจะมีความสำคัญมากกว่าผู้ถือหุ้น ที่เป็นเพียงแค่เจ้าของเงินผู้ให้บริษัทหยิบยืมมาลงทุน แต่พนักงานนั้นต้องลงทุนทั้งแรงกายและความรู้ความสามารถ ที่มีส่วนสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของบริษัทโดยตรง ทุกคนจึงเป็นเจ้าของบริษัทและทุกคนก็มีเกียรติเสมอกัน บริษัทของเธอจึงไม่มีระบบเจ้านายกับลูกน้อง แต่เป็นระบบ “เพื่อนร่วมงาน”
เธอเลี้ยงลูกกับพนักงานบริษัทในรูปแบบเดียวกัน คือไม่ใช่การโอ๋เอาอกเอาใจ หรือเลี้ยงให้เป็นเทวดา แต่เธอเลี้ยงด้วยการ “ป้อนงาน” คือต้องคอยสังเกตว่าพนักงานคนใดมีความสามารถในเรื่องใด ก็ให้เขาคนนั้นได้แสดงความสามารถออกมาอย่างเต็มที่ พนักงานบางคนเก่งมาก มีความรู้ดีมาก แต่ค่อนข้างขี้เกียจ เธอก็จะให้คนที่ขยันมาก ๆ มาทำงานร่วมด้วย เพื่อผลักดันให้คนที่ขี้เกียจนั้นขยันตามขึ้นไปด้วย พร้อมกับที่ให้คนขี้เกียจได้ถ่ายทอดความรู้และความเชี่ยวชาญตอบแทนให้ นับเป็นระบบทีมงานที่ “วิน-วิน” ทั้งคู่ ทำนองเดียวกันกับที่เธอเลี้ยงลูก ลูกคนโตค่อนข้างขี้เกียจแต่หัวดี เธอก็ให้ลูกคนเล็กไปคอยอ้อนให้พี่สอนหนังสือให้ พร้อมกับชวนผู้ที่เป็นพี่ได้ไปออกกำลังหรือมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ช่วยเล่นเกมเป็นการตอบแทน ก็ทำให้เด็กทั้งสองคนพี่น้องนั้นพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน และเป็นการสร้างทีมงานในบ้าน หรือ “ทีมครอบครัว”
ธิดาวดีแต่แรกก็ไม่เคยสนใจการเมือง แม้ว่าเธอจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาทุกครั้ง แต่เธอก็แค่ถือว่าเป็นการ “ทำตามหน้าที่” จนกระทั่งวันหนึ่งพนักงานบริษัทกลุ่มหนึ่งได้แสดงอาการ “ประท้วงเงียบ” เนื่องจากไม่พอใจที่กรรมการบริษัทไม่ได้จ่ายโบนัสให้ในจำนวนที่มากพอ ซึ่งในปีนั้นเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ทำให้สหรัฐไม่ได้สั่งสินค้าจากคู่ค้าในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงบริษัทของเธอที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นรายใหญ่อยู่ด้วย ทำให้บริษัทขาดทุนพอสมควร แต่ก็พยายามจ่ายโบนัสให้บ้างในจำนวนไม่มาก จึงสร้างความไม่พอใจแก่พนักงานดังกล่าว
เธอปรึกษากับพ่อของเธอที่เป็นประธานบริษัท พ่อมีเพื่อนเป็นนักการเมืองหลายคน ทั้งยังเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อนนักการเมืองบางคนนั้นด้วย พ่อบอกว่าลองเข้าไปหาพนักงานแล้ว “เจรจา-พูดคุย” กันดู โดยแนะนำเทคนิคในการเจรจาแบบที่เรียกว่า “การโน้มน้าว” ให้กับเธอ โดยให้เริ่มจากเข้าไปพูดคุยกับพนักงานทุก ๆ คนทีละคนก่อน แม้จะใช้เวลาบ้างแต่มันจะทำให้เธอได้ข้อมูลที่พอเพียง ซึ่งบางทีก็อาจจะแก้ปัญหาหรือทำความเข้าใจกับบางคนได้ไปก่อน และหลังจากนั้นก็ค่อยเรียกคนที่ยังมีปัญหามาประชุมเป็นกลุ่ม แต่ที่สำคัญคือต้อง “พูดบวก” คือให้ทุกคนมองเห็นอนาคตร่วมกัน ให้ทุกคนมีความหวัง พร้อมกับขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันสร้างและพัฒนาบริษัท และบอกว่าบริษัทไม่เคยคิดที่จะไล่หรือเอาใครออก ตราบเท่าที่ทุกคนยัง “มีใจ” ให้กับบริษัท ซึ่งนั่นจะทำให้พนักงานเห็นความสำคัญของตัวเขา เป็นการให้เกียรติและยกย่องกับพนักงาน ซึ่งถ้าพนักงานรักงานที่ทำจริง ๆ ก็จะยังอยู่กับบริษัท แต่ถ้าพนักงานไม่มีใจแล้วละก็เขาจะออกก็ให้ออกไป ซึ่งก็จะเป็นการคัดแยกคนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
เธอใช้เวลาเกือบครึ่งปีเพื่อพูดคุยและจัดประชุมในเรื่องโบนัส พนักงานบางคนก็ออกไปเองระหว่างนั้น เพราะแม้จะให้ความหวังอย่างไรพนักงานคนนั้นก็ไม่ยอมอยู่ ซึ่งก็เป็นไปตามที่พ่อของเธอแนะนำ แต่คนที่อยู่จนถึงกลางปีก็ได้รับโบนัส แม้จะมากเท่าที่เคยได้ แต่เธอก็ทำให้เห็นว่าบริษัทยังเติบโตได้ ทำให้พนักงานมีความเชื่อมั่นและยังพร้อมที่จะช่วยกันกอบกู้บริษัท และพอปลายปีบริษัทก็เพิ่มโบนัสให้อีก แม้จะยังไม่ได้ตามที่พนักงานต้องการ แต่เธอก็ทำให้เห็นว่าบริษัทพยายาม “เคารพ” พนักงานทุกคนเพียงไร
หลังจากที่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ได้ผ่านพ้นไป เธอก็ติดตามดูข่าวโทรทัศน์ โดยเฉพาะข่าวการเมืองทั้งในและนอกประเทศ เพราะเธอได้รับรู้แล้วว่าการกระทำของนักการเมืองนั้นมีผลต่อชีวิตผู้คนมาก โดยเฉพาะนโยบายของผู้บริหารประเทศที่มีผลต่อการทำมาหากินของประชาชน เธอเริ่มเล่นโซเชียลมีเดีย แรก ๆ ก็เพื่อติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของนักการเมืองที่เธอชื่นชอบ ต่อมาก็ร่วมสนทนาพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ ของบ้านเมืองที่บรรดาแฟนคลับของนักการเมืองคนนั้นเขาสนใจกัน และหลายเรื่องที่เธอแสดงความเห็นออกไปก็เป็นที่ชื่นชอบของของบรรดาเอฟซีในกลุ่มทั้งหลาย จนเธอได้สร้างเว็บเพจของเธอนำเสนอสิ่งที่เธออยากบอกให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ด้วย กระทั่งมีคนติดตามและเป็นแฟนเพจอยู่จำนวนหนึ่ง
จุดเด่นในเว็บเพจของเธอก็คือ “ความเอาจริง” เพราะเธอไม่เพียงแต่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและเผ็ดร้อน แต่ยังได้นำเรื่องบางเรื่องที่เป็นปัญหาทำเป็นจดหมาย ทั้งที่เปิดผนึกเป็นการสาธารณะ และที่เป็นจดหมายเฉพาะตัวถึงผู้รับผิดชอบ ความจริงจังของเธอทำให้มีผู้ร่วมให้ข้อมูล ให้ความคิดเห็น ข้อแนะนำ และกำลังใจต่าง ๆ อยู่เสมอ ทำให้เรื่องที่เธอนำเสนอเป็นที่สนใจ และยิ่งเป็นที่จดจำมากขึ้นก็เพราะเธอได้พยายามผลักดันให้ทุก ๆ เรื่องเหล่านั้นไปสู่การแก้ไข (เธอเคยเล่าให้พวกผู้ปกครองที่มาประชุมในสมาคมครูและผู้ปกครองที่เธอเป็นประธานในปีหนึ่งว่า เธอไม่ใช่ทั้ง “เฮี้ยบเลียบคลอง” ที่เอาแต่เตะเอาแต่ถองแล้ววิ่งหนี หรือ “พี่ศรีทองนักร้องแหลก” ที่แลกใบหน้ากับการเรียกเรตติ้ง แต่เธอคือ “ธิดาถวายชีวิต” เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนรับผิดชอบร่วมกัน)
เมื่อตอนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้ทำรัฐประหารในปี 2557 เธอสะใจที่นักการเมืองทั้งในฝ่ายรัฐบาลและนักประท้วงในฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ต่างก็ถูกจับไป “ปรับทัศนคติ” เพราะเธอคิดว่าทั้งสองพวกนี้ก็สร้างปัญหากับสังคมพอ ๆ กัน พวกหนึ่งก็ “ชั่วทั้งตระกูล” ที่พี่ชายก็พาน้องสาวมาร่วมชั่วด้วย รวมถึงพาครอบครัวและบริวารพวกพ้องมาร่วมชั่วอีกเป็นจำนวนมาก ซ้ำร้ายยังเอาประชาชนมาร่วมในความชั่ว ด้วยการมอมเมาประชาชนด้วยประชานิยมอย่างหลากหลาย ด้วยการละลายเงินจากภาษีอากรและนโยบายขายชาติต่าง ๆ ส่วนอีกพวกหนึ่งก็บ้าประท้วงไม่หยุดหย่อน ทั้งยังน่าจะเชื่อได้ว่าได้เตรียมการให้ทหารเข้ามายึดอำนาจอีกด้วย ซึ่งก็ไม่ได้ดีไปกว่าอีกฝ่ายนั้นเท่าใดนัก เพราะก็ไม่ได้เคารพกฎหมายบ้านเมืองเหมือนกัน ทั้งยังเอาประชาชนมาร่วมชะตากรรมอันชั่วร้ายนั้นอีก
เมื่อปี 2562 เธอได้รณรงค์ในเพจของเธอให้ช่วยกันเลือกนักการเมืองคนรุ่นใหม่ แต่พอเธอได้เห็น “ไส้พุง” บางอย่างของนักการเมืองคนรุ่นใหม่เหล่านั้น เธอก็เปลี่ยนท่าทีและเลิกสนับสนุน ปัจจุบันนี้เธอหันมาทำเพจที่เน้น “ธรรมะธัมโม” แต่ก็ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง แม้ว่าแฟนเพจจะมีจำนวนลดลง แต่ดูเหมือนว่าเธอก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนั้น โดยเธอยังมุ่งมั่นที่จะเขียนถึง “บ้านเมืองที่ดี” ไปเรื่อย ๆ รวมถึงที่ได้ประกาศมาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ว่า “ฉันจะไม่เล่นการเมือง แต่ฉันจะเล่นงานคนที่มาทำไม่ดีกับการเมือง”
พร้อมกับข้อความส่งท้ายก่อนที่จะปิดเพจของเธอไปในต้นปีนี้ว่า “ประเทศไทยจะต้องปกครองด้วยคนที่ดีกว่านี้ตลอดไป” เหมือนจะบอกเป็นนัย ๆ ว่า ประเทศของเราคงจะต้องรอ “คนดี” คนนั้นไปอีกนาน