ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : เนื่องในโอกาสที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ประกาศยกย่องเชิดชู “พระยาศรีสุนทรโวหาร” (น้อย อาจารยางกูร) เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ประจำปี 2565

ด้านกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมเผยแพร่ประวัติและผลงานสำคัญของ “พระยาศรีสุนทรโวหาร” (น้อย อาจารยางกูร) เนื่องในโอกาสยูเนสโกได้มีมติประกาศยกย่องเชิดชูเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 41 เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปี ชาตกาลในปี พ.ศ. 2565 (200th anniversary of the birth of Phraya Srisundaravohara (Noi Acharyankura) (1822 – 1891) ดังนั้น วธ.โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมดำเนินการเผยแพร่ประวัติและผลงานสำคัญของท่าน เพื่อที่ให้เยาวชนและประชาชนได้รู้จักบุคคลด้านภาษาไทยของประเทศไทยร่วมกัน

ประวัติและผลงานโดยสังเขป พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ เดิมชื่อ น้อย เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ที่บ้านคลองโสธร ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลำดับที่ 1457 ว่า “อาจารยางกูร” เมื่อ พ.ศ. 2457 ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434 รวมสิริอายุ 69 ปี ท่านเป็นนักปราชญ์ทางภาษาและหนังสือ เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ เป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็น “อาจารย์ใหญ่” คนแรกของโรงเรียนหลวง และครูสอนหนังสือไทย เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอีกหลายพระองค์

หอเชิดชูเกียรติ “พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)” ในพิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา

ท่านได้นิพนธ์วรรณกรรมทั้งร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์กลอน ลิลิต ที่ล้ำค่าไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตำราเกี่ยวกับภาษาไทยที่สำคัญคือ แบบเรียนหลวง 6 เล่ม ได้แก่ “มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยคสังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์” และหนังสือแบบเรียนภาษาไทยอื่นๆ อีก 12 เล่ม มีผลงานด้านหนังสือประเภท สุภาษิต วรรณคดี คำฉันท์ ลิลิต บทเสภา หนังสือด้านศาสนา และผลงานเบ็ดเตล็ด รวม 15 เรื่อง เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเนื้อเพลงแรก ผลงานของท่านเป็นมรดกตกทอดมาถึงอนุชนรุ่นหลัง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนบทเรียน แต่ล้วนมีพื้นฐานมาจากหนังสือเรียน 18 เล่มนี้ ท่านได้รับยกย่องว่าเป็น “ศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย” อีกด้วย

นอกจากที่ร่ายมาโดยสังเขปข้างต้นแล้ว ยังสามารถสืบค้นประวัติและผลงานของท่านเพิ่มเติมช่องทางต่างๆ อาทิ Facebook line Youtube กระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งสามารถรับชมในรูปแบบ E-book ผ่านเว็บไซต์ได้แก่ www.noi-acharyankura.info/ , www.digital.net.go.th และ www.finearts.go.th นอกจากนี้ทางจังหวัดฉะเชิงเทราขอเชิญเยี่ยมชมประวัติและผลงาน ในหัวข้อ “ปราชญ์ภาษาไทยของแผ่นดิน” ทุกวันพุธ – อาทิตย์ ณ หอเชิดชูเกียรติ พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา

ทั้งรวมไปถึงจัดกิจกรรมการเฉลิมฉลอง วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 200 ปี พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร เพื่อประกาศเกียรติคุณยกย่องบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศต่อไปด้วย

ภาพ พระยาศรีสุนทรโวหารน้อยอาจารยางกูร.com , กระทรวงวัฒนธรรม