นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการปรับการบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ว่า ต้องมองภาพใหญ่ก่อน หอศิลป์ฯ ยังคงสำคัญต่อเมือง เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดคนชอบงานศิลป แต่ต้องไปดูที่การบริหารจัดการหอศิลป์ฯ ว่าบริหารจัดการอย่างไรให้โปร่งใส และเปิดรับกลุ่มศิลปินรวมถึงศิลปแขนงต่างๆ มากขึ้น ในปัจจุบันหอศิลป์ฯกทม. ก็เปิดรับแล้วประมาณหนึ่ง มีการเปิดให้ใช้สถานที่หลากหลายกิจกรรมเป็นพื้นที่แสดงออกของหลายกลุ่ม แต่ยังต้องเปิดรับในส่วนของศิลปิน และวัฒนธรรมให้กว้างขึ้น ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องหารือร่วมกันกับมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ที่เป็นเรื่องที่สภากรุงเทพมหานครที่ผ่านมาไม่ให้งบประมาณ จากที่คุยกับประธานมูลนิธิฯ ในเบื้องต้น มูลนิธิเองก็มีแนวคิดจะจัดแสดงผลงานระดับโลก รวมถึงแนวคิดจัดผลงานศิลปะในสถานที่ต่างๆด้วย เพราะมูลนิธิหอศิลป์ฯ ไม่ได้มีภารกิจเฉพาะตัวอาคารหอศิลป์ฯนี้ แต่ยังมีภารกิจศิลปวัฒนธรรมของทั้งเมือง ก็ต้องบูรณาการกัน เช่น มีแนวคิดที่จะทำแกลอรี่อาร์ตในสวนเบญจสิริ รวมถึงรณรงค์ในชุมชนเน้นเสน่ห์ของเมือง ซึ่งกรุงเทพมหานครจะลงไปร่วมมือคิดร่วมทำให้เกิดผลงาน เป็นภาพรวมของเมืองที่เรายินดีที่หลายฝ่ายจะเข้ามาร่วมช่วยกันพัฒนาเมือง 

 

“ หอศิลป์มีเสน่ห์ โดยที่ตั้งของหอศิลป์กทม. อยู่ท่ามกลางความเร็วของสิ่งรอบข้าง ขณะที่ตัวหอศิลป์จะช้า เหมือนลุงแก่ๆนั่งยิ้มรอเราอยู่ ท่ามกลางวัยรุ่นอายุ 10-20 ต้นๆ ซึ่งผมว่าเป็นเสน่ห์ของเมืองที่ต้องมี แต่ต้องไปดูที่การบริหารจัดการเรื่องความโปร่งใส ที่ผ่านมาทางสภากทม. ก็ตีเรื่องนี้มาตลอด เราตั้งหลักว่าต้องสนับสนุนให้หอศิลป์กทม. ยังอยู่ แต่ทำอย่างไรให้ตอบคำถามทุกคนได้ “ รองผู้ว่าฯ ศานนท์กล่าว

ทั้งนี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริหารจัดการโดยคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชุดปัจจุบัน (2564 - 2566) รวม 12 คน มี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที และ นางเยาวณี นิรันดร เป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิฯ และ กรรมการมูลนิธิฯ อีก 9 คน ประกอบด้วย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี , นางมาริษา เจียรวนนท์ , นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ , นางวรรณพร พรประภา , นางชมัยภร บางคมบาง , นายญาณวิทย์ กุญแจทอง , นายสรรเสริญ มิลินทสูต , นายสมิตร โอบายะวาทย์ และ นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ