จากการดำเนินงานตามนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะผลักดัน “เกาะหมาก” จังหวัดตราด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy ซึ่งมีการคัดแยกและแปรรูปขยะจากการท่องเที่ยว โดยใช้นวัตกรรมต่างๆ ดำเนินการ แล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์ โดยทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ เพื่อนำเสนอให้ เกาะหมาก เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยว ตามหลักการ Circular Economy ของประเทศไทย ในเรื่องนี้ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.ได้สะท้อนแผนการดำเนินงานต่อเนื่อง ได้อย่างน่าสนใจ
พัฒนาพื้นที่สู่ Low Carbon
โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทบางจากฯ พร้อมกับภาคี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก และวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด เพื่อพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สู่ Low Carbon Destination หมู่เกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ระยะเวลา 3 ปี ในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด รวมถึงพัฒนาพื้นที่ ระบบนิเวศ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในพื้นที่ตำบลเกาะหมาก
ทั้งนี้ อพท. มีความตั้งใจที่จะพัฒนาและยกระดับให้เกาะหมากเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ โลว์คาร์บอน เดสติเนชั่น (Low Carbon Destination) ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมภาคการท่องเที่ยวให้น้อยกว่าแหล่งท่องเที่ยวโดยทั่วไป และยกระดับให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยวของประเทศไทย
กระจายรายได้สู่ชุมชน
ซึ่ง นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวว่า อพท.มีเป้าหมายภายในปี 2570 จะพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบของประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนนำไปสู่การสร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่พิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index: TTCI) ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย
รวมถึงการตั้งเป้าหมายมีจำนวนเมืองและชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ตลอดจนอัตราการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ขยายภาคีเครือข่ายการพัฒนา สร้างชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวให้เกิดรายได้และมีการกระจายรายได้ที่ดี และเป็นหน่วยงานที่มีธรรมาภิบาลและความเป็นเลิศในการเป็นต้นแบบด้านท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ
สำหรับการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC เป็นการผลักดันเกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 เพื่อย้ำความสำเร็จที่ อพท.วางเป้าหมายให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy ของประเทศไทย และผลักดันสู่การได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์มาตรฐาน Green Destinations ระดับโลกในปี 2570