การลงพื้นที่จ.บุรีรัมย์เพื่อดูความสำเร็จของเกษตรกรรุ่นใหม่ในโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรของนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมเยี่ยมชมผลผลิตทางการเกษตร สินค้าแปรรูปต่างๆ อาทิ พริกทอด ลูกชิ้นเห็ดฟาง พริก เห็ดนางฟ้า ของนางสาวแสงระวี ภูมิลามัย หรือพืชผักอินทรีย์ อาทิ มะเขือ พริก ดอกขจร แก้วมังกร มะกรูด มันเทศญี่ปุ่น ของนางสาวพรเพ็ญ จันทะมี และข้าวอินทรีย์ ของนางสมใจ อินทรี ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ให้การสนับสนุนมาโดยตลอดนั้น ไม่เพียงแค่เป็นขวัญกำลังใจในความสำเร็จแก่ตัวเกษตรกรเอง ในฐานะต้นแบบของเกษตรกรรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังมีการต่อยอด ขยายผลไปสู่เกษตรกรในพื้นที่รายอื่นๆ ด้วย โดยในจ.บุรีรัมย์มีกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการฯจำนวน 22 ราย แต่ละรายกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลาย เช่น การเกษตรผสมผสาน ข้าวหอมมะลิ โคเนื้อ แพะ แกะ เห็ด พริก และสมุนไพร เป็นต้น
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ได้ให้คำปรึกษาแนะนำเกษตรกรจัดทำแผนการผลิต แผนการตลาด เชื่อมโยงเครือข่ายสินค้ากับสหกรณ์และซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ มีการส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ โดยให้เกษตรกรนำหลักสหกรณ์มาใช้ในการรวมกลุ่มวางแผนการเลี้ยงโคเพื่อสร้างรายได้ สนับสนุนเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ
นายสุภาพ เกิดบุญ สหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า เกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ในจ.บุรีรัมย์มีผู้สมัครร่วมโครงการทั้งสิ้น 22 ราย ในส่วนของอ.คูเมืองนั้นมีจำนวน 3 ราย ปัจจุบันได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสังกัดสหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด
“วันนั้นท่านวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะไปดูตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จ 3 รายเป็นเด็กรุ่นใหม่กลับมาอยู่บ้าน และได้สมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด การทำเกษตรของเขาส่วนใหญ่จะเน้นธุรกิจครบวงจรผลิตไปด้วย ทำตลาดไปด้วย ส่วนสหกรณ์ก็จะคอยดูแลเป็นพี่เลี้ยงให้ โดยสหกรณ์การเกษตรคูเมืองจะเป็นศูนย์รับซื้อผลผลิตแล้วส่งต่อไปยังเครือข่ายตลาดเอกชนและห้างฯทวีกิจที่อยู่ในตัวเมืองบุรีรัมย์”สหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ เผย
นายสุภาพ กล่าวต่อว่า ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดได้เร่งขับเคลื่อนงานตามนโยบายท่านอธิบดีฯ โดยพยายามให้ลูกหลานเกษตรกรที่เป็นเด็กรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในสังกัดสหกรณ์มากขึ้น เพื่อจะได้มีส่วนเติมเต็มคิดแนวใหม่ในเรื่องของการตลาด เนื่องจากคนรุ่นใหม่จะเก่งเรื่องไอทีและสามารถหาช่องทางตลาดใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ แต่ในส่วนองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ลูกหลานเขาอยากได้เราพยายามเติมเต็มส่วนนี้เข้าไปให้เพื่อให้เขาได้ใช้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรและเป็นตัวอย่างให้กับสมาชิกสหกรณ์รายอื่นๆ ด้วย
“ถึงแม้โครงการนี้จะหยุดไม่รับเพิ่มแล้ว แต่เราจะไม่หยุดยังขยายผลต่อไปเรื่อยๆ จะพัฒนาเด็กที่อยู่ในโครงการอต่อไปอีก อย่างบุรีรัมย์กลุ่มลูกหลานในโครงการนี้มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งมาก นอกจากทำเกษตรที่มีอยู่เดิมแล้ว ตอนนี้พวกเขามีแนวคิดใหม่ๆ อยากจะรวมกลุ่มเลี้ยงโควากิว ซึ่งเขากำลังคิดกันอยู่ เขาคิดกันเองนะ ส่วนเราก็จะเข้าไปเติมเต็ม ในส่วนที่พวกเขาร้องขอต้องการ”สหกรณ์จังหวัด บุรีรัมย์ กล่าวย้ำ
นางสาวแสงระวี ภูมิลามัย อายุ 39 ปี หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯเผยว่าก่อนจะเข้าร่วมโครงการนี้เคยทำงานเป็นช่างเทคนิคในโรงงานอุตสาหกรรมมาก่อน ก่อนจะโดนจ้างออกหลังเจอวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 จากนั้นก็มาเปิดร้านกาแฟที่จังหวัดสระแก้วได้ประมาณ 3 ปี มีรุ่นน้องที่เข้าร่วมโครงการอยู่ก่อนแล้วแนะนำให้สมัครเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากตั้งใจกลับบ้านที่จ.บุรีรัมย์เพื่อทำการเกษตรสานต่ออาชีพของครอบครัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
“มีรุ่นน้องส่งข้อมูลมาให้ว่ามีโครงการนี้สนใจไหม ก็เลยตัดสินใจสมัครเพื่อจะได้กลับมาอยู่ที่บ้านของตัวเอง ครอบครัวมีที่ดินอยู่ประมาณ 19 ไร่เมื่อก่อนไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย ส่วนหนึ่งเป็นที่นา ที่เหลือก็จะเป็นป่า กลับมาบ้านตอนปี 2562 ก็มาปรังปรุบพื้นที่ใหม่ทั้งหมดจากป่ารกก็พัฒนามาทำเกษตรกรผสมผสาน เริ่มจากปลูกพริก เพาะเห็ดฟาง ปลูกไม้ผล เช่น กล้วยน้ำว้า ชมพู่ แล้วก็ปลูกไม้เศรษฐกิจเช่น พะยูง ยางนา ประดู่ มีข้าว มันสำปะหลัง รวมทั้งพืชผักสมนุไพรอีกหลายชนิด”นางสาวแสงระวีเผย
เกษตรกรคนเดิมเผยต่อว่า จากนั้นได้สมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด โดยทางสหกรณ์ได้ให้ความรู้แนะนำส่งเสริมด้านต่างๆ และได้เรียกให้เรามาอบรม โดยใช้ความรู้ที่อบรมมาใช้กับผลผลิตของเรา ซึ่งเป็นโครงการที่ให้การช่วยเหลือดีมาก อย่างเราไม่มีทุนเพื่อจะมาพัฒนาแหล่งน้ำ เนื่องจากพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ทางสหกรณ์ก็ได้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยพิเศษเพื่อนำมาขุดเจาะน้ำบาดาลและติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ทำระบบน้ำในแปลง ทำให้วันนี้เรามีผลผลิตจำหน่ายทุกวัน หากมีจำนวนมากก็จะส่งให้กับสหกรณ์ฯคูเมือง จำกัด ซึ่งเขารับซื้อผลผลิตจากสมาชิกอยู่แล้ว โดยเฉพาะพริกเป็นผลผลิตหลักจะส่งให้กับทางสหกรณ์สัปดาห์ละ 3 วันในทุกวันจันทร์ พุธและศุกร์ ทำให้ชีวิตวันนี้ดีขึ้นมาก มีรายได้จาการกจำหน่ายผลผลิตจากสวน
“เมื่อก่อนรายได้ไม่เยอะขนาดนี้ ครั้งแรกเริ่มจากทำเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวอย่างเดียว เนื่องจากยังไม่มีระบบน้ำ ต้องอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ตอนนี้มีเงินหมุนเวียนเดือมหนึ่งก็ประมาณ 6,000-10,000 บาท ที่มีวันนี้ได้ก็เพราะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากสหกรณ์ค่ะ”นางสาวแสงระวี กล่าวย้ำ
ไม่เพียงนางสาวแสงระวี ภูมิลามัย ที่ได้รับอานิสงค์จากโครงการ นางสาวพรเพ็ญ จันทะมี อายุ 34 ปี เจ้าของสวนพืชผักอินทรีย์ใน ต.ตูมใหญ่ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯรายที่ประสบผลสำเร็จไม่ต่างกัน เพียงแต่เธอนั้นได้เตรียมความพร้อมเพื่อกลับไปสานต่ออาชีพเกษตรจากครอบครัว ด้วยการเพาะกล้าผักหวานป่าเพื่อนำไปปลูกที่บ้าน ขณะที่ยังทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารย่านจ.ปทุมธานี หลังลาออกจากงานกลับไปอยู่บ้านผักหวานป่าที่ปลูกไว้ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ทันที
ถามว่าทำไมต้องผักหวานป่า เพราะหาตลาดง่าย คนอีสานรู้จักดีอยู่แล้ว นำมาใช้ทำอาหารทานกันเป็นปกติกันอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าเริ่มต้นที่ผักหวานป่าก่อน”นางสาวพรเพ็ญเผย หลังจากกลับมาอยู่บ้านไม่นานก็สมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรในปี 2562 จากนั้นเข้ามีโอกาสเข้าร่วมการอบรมในโครงการต่างตามที่ทางสหกรณ์จัดให้แล้วนำองค์ความรู้มาพัฒนาจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ข้าวและมันสำปะหลังแล้วก็หันมาทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชหลากหลายมากขึ้นเป็นแบบอินทรีย์บนเนื้อที่ 4 ไร่เศษ มีทั้ง มะเขือ พริก ดอกขจร แก้วมังกร มะกรูด มันเทศญี่ปุ่นและผักเชียงดา พืชบางนิดก็จะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า อย่างเช่นผักเชียงดา พริก มะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็นต้น และยังเจียดพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกไม้ผลชนิดต่าง อาทิ ชมพู่ ฝรั่ง มะเดื่อฝรั่ง กล้วยน้ำว้า มะละกอ อีกส่วนก็จะกันไว้เป็นสวนป่าปลูกไม้ยืนต้นและผักหวานป่า
“สิ่งที่ตั้งใจไว้ในอนาคตคืออยากจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทุกอย่างเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งตอนนี้ก็ได้เริ่มทำไปบ้างแล้วบางตัวเช่นแปรรูปผักเชียงดาและน้ำมะม่วงหาวมะนาวโห่”นางสาวพรเพ็ญ จันทะมี เจ้าของสวนพืชผักอินทรีย์คนเดิม ย้ำทิ้งท้าย