สภาองค์กรผู้บริโภค ยื่นข้อเสนอผู้ว่าฯกทม. แก้สัญญาสายสีเขียว ใช้ 44 บาทตลอดสาย ทำได้ทั่วโลกรัฐต้องอุดหนุน “ชัชชาติ” รับไปพิจารณา ต้องสมดุล ให้เคทีสรุปสัปดาห์หน้า ลั่น! แก้สัญญาเดินรถปี85 ให้สิ้นสุดพร้อมสัญญาสัมปทานปี72 ฝากสภาฯบอกรัฐบาลช่วยค่าโครงสร้างด้วย 

(29 มิ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องราคารถไฟฟ้า โดยมีนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมหารือ ณ โรงแรมรามาการ์เด้น เขตหลักสี่ 

เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยภายหลังว่า ได้ยื่นข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 1.ขอให้ยกเลิกกำหนดราคาตลอดสาย 59 บาท ที่จะทำให้เกิดเพดานราคาสูงสุด ที่จะทำให้ราคารถไฟฟ้าไม่สามารถให้ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน ซึ่งอาจส่งผลการเข้าถึงการบริการของผู้บริโภค แต่เห็นด้วยกับการเก็บค่าโดยสารจากคูคตเข้ามาในราคา 15 บาท 2.ขอให้ กทม.ใช้ราคา 44 บาทตลอดสาย เพื่อคุ้มครองบริษัทบีทีเอสด้วย โดยราคารวมตลอดสายรวมส่วนขยายทั้ง 2 ฝั่งไม่ควรเกิน 44 บาท เพื่อเป็นต้นแบบให้สายอื่นๆ ให้รถไฟฟ้าเป็นมิตรทุกคนสามารถขึ้นได้ 3.เรื่องการแก้ไขสัญญาที่เกินเลยปี 2585 จากสัญญาสัปทานเดิมจะหมดในปี 2572 แต่มีการจ้างเดินรถเกินเลยสัญญาสัมปทานหลักไปถึงปี 2585 ขอให้ผู้ว่าฯ หาทางแก้ปัญหาส่วนนี้ หากยกเลิกสัญญาเดินรถส่วนที่เกินเลยจากสัญญาสัปทานได้ ก็จะมีโอกาสให้การดำเนินการหลังหมดสัญญาสัมปทาน จะทำให้ผู้บริโภคมีราคาที่เป็นมิตรมากขึ้น เราสนับสนุนกรุงเทพมหานครไม่ต่อสัญญาสัมปทาน และใช้วิธีการ ประมูลจ้างการเดินรถ หรือทำสัญญากับ PPP เอกชนต่างๆ โดยแยกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาเดินรถ และสัญญาหาประโยชน์ พร้อมเสนอว่า หลังหมดสัญญาสัมปทาน ให้ใช้ราคา 25 บาท ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคเรามั่นใจว่าทำได้จริง โดยราคาที่ใช้ก่อนหมดสัญญาก็ขอให้คุ้มครองบริษัทบีทีเอสโดยใช้ราคา 44 บาท 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ในประเด็นที่สภาฯ กังวลเรื่องราคา 59 กับ 44 บาท ซึ่งเป็นระยะสั้นก่อนหมดสัญญาสัมปทาน ยังมี 2 ส่วนขยายที่ยังไม่ได้เก็บเงิน ส่วนตรงกลางก็คือ 44 บาทสูงสุดอยู่แล้ว ก็ต้องทำตัวเลขดูว่ากรอบ 44 บาท หรือ 59 บาท ทาง กทม.เราต้องชดเชยเงินเท่าไร เพราะหากกำหนดให้ 44 บาทสูงสุด ก็คือวงเงินส่วนตรงกลางที่เอกชนได้สัมปทานอยู่ ถ้าวิ่งออกมาข้างนอก 2 ส่วนขยายก็จะไม่ได้เงินเลยเพราะกำหนดสูงสุดไว้ที่ 44 บาท ต้องทำตัวเลขมาให้ดูเปรียบเทียบกับสายอื่น ซึ่งต้องอธิบายได้ว่าทำไมเราเสนอเก็บส่วนต่อขยายที่ยังไม่มีการเก็บเงินอยู่นี้เป็นราคาเท่าไร ส่วนเรื่องที่เสนอให้นำตั๋วเดือนกลับคืนมารวมถึงตั๋วนักเรียน ก็ต้องไปเจรจากับทางบีทีเอสต่อไป สำหรับการเปิดเผยสัญญาการจ้างเดินรถปี 2572 - 2585 มีข้อหนึ่งในสัญญาห้ามเปิดเผยสัญญานี้ ก็ต้องไปดูว่า กทม.มีสิทธิจะเปิดเผยไหม ตอนนี้ได้สัญญามาแล้วต้องมาดูให้เกิดความโปร่งใส และจะแก้ไขสัญญาให้สิ้นสุดปี 2572 พร้อมกับสัญญาสัมปทาน รวมถึงการเปิดเผยสัญญาสัมปทานของ กทม. ที่กำหนดราคา 65 บาท ก็ต้องไปดูรายละเอียดเช่นกัน ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดเรารับไปพิจารณา 

“ ปัญหาหลักที่ค้ำเราอยู่ตอนนี้ คือ การจ้างเดินรถปี 72 - 85 ซึ่งเซ็นสัญญาล่วงหน้าไปนานแล้ว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เรามองว่าสูง อยู่ประมาณ หมื่นกว่าล้านต่อปี ซึ่งตัวนี้เป็นกรอบค่ำคอเราอยู่ ทำให้เราขยับตัวยาก ก็กำลังหาทางดำเนินการอยู่ “ ผู้ว่าชัชชาติกล่าวและว่า

ต้องขอบคุณสภาองค์กรผู้บริโภคทำให้เรามีจุดได้คุยกับตัวแทนผู้บริโภคได้ ซึ่งผู้บริโภคมีทั้งผู้ที่ใช้และไม่ใช้บีทีเอส ก็ต้องดูให้สมดุล เราไม่สามารถนำเงินของผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้บีทีเอส มาจ่ายให้กับคนที่ใช้บีทีเอสได้ ก็ต้องเรียนสภาฯ ทราบด้วยว่า สุดท้ายแล้วหากเราใช้ราคานี้ กทม.ต้องเอาเงินไปช่วยเท่าไร เงินส่วนนี้ผู้บริโภคกลุ่มอื่นจะมีปัญหาอะไรไหม เราคุยกันด้วยหลักการน่าจะอธิบายกันได้ ภายในสัปดาห์หน้า ทางเคทีน่าจะมีข้อสรุป 

“ เรื่องรถโดยสารสาธารณะหรือรถไฟฟ้า เราจะคิดตามราคาที่ลงทุนไม่ได้ ทั่วโลกไม่มีใครใช้ราคาลงทุนจริงมากำหนดราคาให้ผู้บริโภคจ่าย ไม่เช่นนั้น เยอรมันคงทำไม่ได้ที่ 330 บาทต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลเขาอุดหนุนทั้งนั้น ฉะนั้น กทม.หรือรัฐบาลจะอุดหนุนก็เป็นที่ต้องดำเนินการท่ามกลางวิกฤติของผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ว่าน้ำมันแพงที่เราอยากรถใช้รถส่วนตัว รวมถึงเรื่อง PM2.5 ที่เป็นต้นทุนทั้งหมดของการรักษาพยาบาล ซึ่งอาจลดต้นทุนเรื่องอื่นมาสนับสนุนการเดินทางสาธารณะของคน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และเราอยากเห็น กทม.คิดค่าใช้จ่ายการเดินทางของคนในส่วนนี้ด้วย “ เลขาฯสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวตอนท้าย

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ฝากสภาฯ ให้ช่วยบอกรัฐบาลช่วยสนับสนุนเรื่องค่าโครงสร้างด้วย เพราะหากรัฐบาลสนับสนุนค่าโครงสร้างพื้นฐานไป กทม.ก็จะสบายขึ้น