วันที่ 29 มิ.ย.65 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Mana Nimitmongkol ระบุว่า...

เหตุเกิดที่ผู้ว่าชัชชาติ

1. มองการทำงานของผู้ว่าชัชชาติอย่างไร

ที่ผ่านมาผู้ว่าชัชชาติและคณะทำได้ดีในการแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ที่เป็นมืออาชีพเฉพาะทางอย่าง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ (ACT) ทีดีอาร์ไอ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ทุกแห่งที่ไปพูดคุยท่านก็จะบอกให้สังคมรู้ว่าไปเพื่ออะไร ได้ไอเดียอะไรไปทำต่อบ้าง ถือเป็นการเริ่มต้นที่น่ายกย่อง

2. จุดเด่นคืออะไร

เราไม่ได้ยินว่าท่านพูดว่าจะรอให้เป็นหน้าที่ ป.ป.ช. สตง. หรือจะใช้กฎหมายมาเล่นงาน ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก คือเมื่อบอกว่าจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ท่านก็เอาเทคโนโลยีมาช่วยอย่าง Open Data ทางเว็บไซ้ท์ จะรับฟังเรื่องทุกข์ร้อนประชาชน ท่านก็ใช้ Traffy Fondue พวกนี้คือการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันเชิงรุก คือใครทำอะไรผู้ว่าชัชชาติก็ติดตามตรวจสอบร่วมกับประชาชนไปพร้อมกัน

นี่คือการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเชิงโครงสร้าง เป็นมิติใหม่ที่รัฐมนตรีหรือผู้นำในหน่วยงานรัฐทั่วไปยังไม่เคยแสดงออกเป็นรูปธรรมจริงจังมาก่อน ทั้งที่แผนการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเขียนไว้ชัดเจน ก.พ.ร. ก็แนะนำอย่างนี้ มติ ครม. รองรับให้ทำได้ก็มีอยู่

แนวทางอื่นที่ได้ยินท่านประกาศไว้ เช่น ลดการรีดไถส่วยสินบนประชาชนและคนทำมาค้าขาย โดยเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนขึ้นง่ายขึ้น ลดคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยนำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและสัญญาที่ทำกับเอกชนมาเปิดเผยทางเว็บไซ้ท์ ลดคอร์รัปชันเชิงนโยบายและการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยี่และข้อมูลทางวิชาการในการวางแผนและตัดสินใจทางนโยบาย ลดการเอื้อประโยชน์พวกพ้องพ้อง โดยทำให้บริษัทกรุงเทพธนาคมหน่วยงานแสนล้านของ กทม. สิ้นสุดยุคอึมครึม เป็นต้น

3. แค่สร้างภาพหรือเปล่า

ทุกวันนี้นักการเมืองและข้าราชการจำนวนมากที่คดโกง ทำเรื่องตบตาประชาชนแล้วอ้างข้อกฎหมาย แม้จะรู้ดีว่ามันขัดจิตสำนึกคนทั่วไปอย่างร้ายแรง แต่พวกเขาก็ไม่แยแสเลย

การปราบคอร์รัปชันจึงไม่ใช่เรื่องหมู ปัญหาใหญ่อย่างนี้ถ้าผู้นำจริงใจก็มีหวัง แต่ทั้งหมดผู้ว่าชัชชาติทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกระดับจึงจะขยับขับเคลื่อนได้ ดังนั้นการจะรู้ว่าเขาสร้างภาพหรือจริงใจคงต้องใช้เวลาสักระยะ

แต่ประชาชนจะนั่งดูเอาใจช่วยอย่างเดียวคงไม่ได้ ใครที่รู้ปัญหา เคยเจอเรื่องทุกข์ใจ โดนรีดไถมาเอง และใครก็ตามที่อยากเห็น กทม. เจริญขึ้น สูงขึ้น จะต้องออกมาช่วยคิดช่วยทำ หรืออย่างน้อยก็ต้องส่งเสียงสนับสนุนเรื่องที่ถูกต้องหรือติติงเรื่องไม่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของพวกเราเอง

4. ผู้ว่าฯ มีอำนาจสั่งการ ข้าราชการคนไหนไม่ร่วมมือก็ลงโทษได้ไม่ใช่หรือ?

ลงโทษได้ตลอดเวลาทั้งวินัยและปกครอง จะสั่งย้ายหรือพักงาน ลดเงินเดือน ไล่ออกก็ได้ แต่ส่วนมากมักไกล่เกลี่ยเวลามีปัญหา อาจเพราะกลัวเรื่องบานปลาย บ้างก็มีผลประโยชน์ร่วม บางครั้งผู้ใหญ่ก็ขอมา แต่สาเหตุที่เอาชนะยากคือ

ความเกรงใจ ที่เกิดจากสายสัมพันธ์และเครือข่ายข้าราชการที่ร่วมงานดูแลกันมายาวนานหลายสิบปี มีไม่น้อยที่พัฒนาเป็นกลุ่มก้อนเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์และอุปถัมภ์ส่งเสริมให้เติบโตในตำแหน่งหน้าที่

ดังนั้นใครมาเป็นผู้บริหารต้องเอาชนะจุดนี้ ต้องเอาชนะใจและสร้างความเชื่อมั่นจนเกิดความร่วมมือร่วมใจจากทุกคน อย่าลืมว่ามนุษย์ทุกคนล้วนอยากทำสิ่งดีๆ เพื่อส่วนรวมเมื่อมีโอกาสและสิ่งแวดล้อมเป็นใจ ข้าราชการ กทม. ก็เช่นกัน ..ผมมั่นใจ

ล่าสุดที่ผู้ว่าชัชชาติกล่าวว่า ยินดีที่จะดูแลทุกคนให้เหมือนคนในครอบครัว ยกเว้นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน คำพูดนี้หากใจแข็งทำได้จริงคนจะกล้าทำผิดน้อยลง

5. สังคมไทยได้เรียนรู้อะไร

จะพัฒนาบ้านเมืองเราต้องควบคุมคอร์รัปชันให้ได้ จะเอาชนะคอร์รัปชันทุกคนต้องร่วมมือกันไม่โยนภาระให้ใคร การจะทำอะไรกจำต้องมองชีวิตจริงว่า เราไม่สามารถหักหาญกับคนจำนวนมากได้

ดังนั้นจึงไม่ควรเริ่มต้นด้วยอำนาจและกฎหมาย ผู้นำต้องใส่ใจทำต่อเนื่องและเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างเครื่องมือและวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่คนยอมรับนำไปครอบวิธีทำงานแบบเดิมที่เป็นปัญหาแล้วเดินไปด้วยกัน โดยเน้นที่ความโปร่งใส เอาส่วนรวมเป็นเป้าหมาย ทำได้อย่างนี้ปราบคอร์รัปชันได้แน่นอน

6. สรุป

วันนี้ผู้ว่าชัชชาติแสดงจุดยืนชัดเจนมากที่จะต่อสู้กับคอร์รัปชัน ขอให้ท่านและคณะลงมืออย่างต่อเนื่องจริงจังเพื่ออนาคตคน กทม. สุดท้ายแล้วจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุใด เชื่อว่าประชาชนมองออกและจะตัดสินว่าท่านทำตามที่พูดจริงหรือไม่ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะเป็นบทพิสูจน์ว่า

‘ต่อต้านคอร์รัปชัน คือจุดเปลี่ยน กทม.’ ที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้ดีขึ้นต่อไป

ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย

29 มิถุนายน 2565