(27 มิ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2565 ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. ดินแดง ถึงเรื่องการถอดบทเรียนกรณีเพลิงไหม้ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุมวัน มีปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ความจำกัดของพื้นที่เข้าออกชุมชนและแออัด บ้านเรือนในชุมชนเป็นไม้ควบคุมได้ยากและอันตราย การปฏิบัติงานไม่ต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีหลายหน่วยงานเข้าจัดการไม่มีการบริหารจัดการพื่นที่ บ้านเรือนในชุนชน
บทเรียนจากเหตุการณ์ มีทั้งฝ่ายชุมชน ประชาชนในชุมชนไม่ได้แจ้งเหตุโดยตรงมาที่สถานีดับเพลิงตั้งแต่ต้น แต่แจ้งมาเมื่อเหตุเกิดไปแล้วกว่า 50% หรือประมาณ 5 นาที ทำให้เพลิงลุกไหม้เกินควบคุม เมื่อพบเหตุครั้งแรก ไม่มีการนำถังดับเพลิงไปดับขั้นต้น แต่ใช้วิธีการแจ้งอาสาสมัคร ทำให้เพลิงลุกไหม้เกินที่ควบคุมในขั้นต้นได้ อีกทั้ง สายไฟฟ้าในชุมชนมีความชำรุด ขาดการบำรุงรักษา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการลุกลาม และเป็นต้นตอเหตุการณ์
รวมทั้งไม่มีการตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ดับเพลิงที่มีในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่ เมื่อเกิดเหตุชาวชุมชนเกิดความสับสน ไม่ทราบว่จะต้องอพยพไปรวมที่ใด การฝึกซ้อมเป็นสิ่งสำคัญ และ ในชุมชนมีจุดติดตั้งประปาหัวแดง แต่แรงดันน้ำไม่พียงพอในการดับเพลิง ส่วนบทเรียนของผู้ปฏิบัติงาน ยังมีปัญหาการจัดตังศูนย์บัญชาการสั่งการ ณ ที่เกิดเหตุ เป็นสิ่งสำคัญและเป็นจุดที่ทำให้การปฏิบัติงานรวดเร็วซึ่งต้องพัฒนา การลงพื้นที่ชุมชน และเก็บรวบรวมข้อมูล การซักซ้อมจึงสำคัญจะทำให้ปฏิบัติงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอาสาสมัครต่างๆ ผู้อำนวยการเหตุการณ์ต้องประสานงานให้ดี รวมถึงผู้อำนวยการเขตจะต้องดูเรื่องการดูแลผู้ประสบภัยซึ่งยังมีเรื่องต้องปรับปรุงอีกมาก เช่น การทำบัญชีผู้เสียหาย การจัดการบริการเบื้องต้นต่างๆ เพื่อให้อนาคตจะได้จัดการดูแลผู้ประสบเหตุได้เร็วขึ้น ซึ่งได้มอบ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ไปสรุปเหตุการณ์และทำแผนปฏิบัติการ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ รวมถึงตรวจสอบความเสี่ยงด้วย กำหนดกรอบดำเนินการใน 2 สัปดาห์
นายชัชชาติ กล่าวในส่วนของเหตุเพลิงไหม้ย่านสำเพ็งว่า สาเหตุต้นเพลิงจากหม้อแปลง ซึ่งมี 3 ส่วน คือ หม้อแปลง สายสื่อสาร และเชื้อเพลิงในอาคาร เกี่ยวเนื่องเป็นปัจจัยร่วมกันที่ทำให้ไฟรุนแรงขึ้น เบื้องต้นได้ประสานการไฟฟ้านครหลวงสำรวจหม้อแปลงที่มีอยู่ 400 กว่าลูก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นประชาชนกลับมา ในส่วนของสายสื่อสารให้เร่งนำลงดิน เบื้องต้นจะตัดสายตายที่ไม่ใช้ออกก่อนเพื่อลดความเสี่ยง ส่วนที่ใช้งานจะทยอยนำลงดิน ต้องหารือผู้ประกอบการเรื่องค่าเช่าไม่ให้แพงมาก เพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระให้ประชาชน นอกจากนี้ฝ่ายประชาชนเองที่มีอาคารต้องระมัดระวังตรวจสอบอาคารป้องกันอัคคีภัยให้มากขึ้นด้วย
“ สิ่งสำคัญคือแผนเผชิญเหตุ จะเห็นว่าเรามีอาสาจำนวนมากที่เข้ามาช่วยฉีดน้ำเข้าไปในอาคาร แต่อาจเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง รูปแบบนี้เป็นปัญหามายาวนาน จึงต้องการประสานการทำงานระหว่างหน่วยอาสากับผู้บัญชาการเหตุเพื่อให้ปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพเต็มที่ เข้าใจดีว่าทุกคนมีความตั้งใจดี แต่ต้องมีการประสานงานที่ดี มีการจัดอบรม และจัดระเบียบให้ดีขึ้น ได้มอบสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำแผนความร่วมมือให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เป็นเรื่องยากที่เป็นปัญหาสะสมมานาน แต่ต้องทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเข้าเผชิญเหตุ โดยให้ยึดต้นแบบเกาหลีที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้แต่ทำสำเร็จแล้ว “ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว