สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยร่วมสืบสานพระปณิธานฯ ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมสังคมไทย พัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สร้างความเสียหาย ทั้งต่อสังคม และเศรษฐกิจของประเทศจนมิอาจประเมินค่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) จึงได้เตรียมในการพร้อมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมทั้งผลักดัน "Soft Power" จากทุนทางวัฒนธรรมความเป็นไทย และอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ซึ่งมีศักยภาพ 5 F ยกระดับการพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า “ที่ผ่านมาสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายศิลปินร่วมสมัย ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจสำคัญๆ ภายใต้นโยบายของภาครัฐเป็นแนวทางในการส่งเสริมผลงานและองค์ความรู้จากศิลปินร่วมสมัย สถานศึกษา การทำ MOU กับหอศิลป์ฯ และองค์กรเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ โดยผ่านการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย และโครงการเงินอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ตลอดจนภารกิจของหน่วยงานในสังกัดต่างๆ การนำทุนทางศิลปวัฒนธรรม และองค์ความรู้ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ของกระทรวงวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้น “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” และปรับเปลี่ยนภารกิจให้กลายเป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมไทย มาปรับใช้ให้เกิดการสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทย รวมทั้งผลักดันให้เห็นว่างานด้านศิลปะคือการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยแก่สังคม เห็นได้จากผลพวงอันเกิดจากโครงการต่างๆ อาทิ “โครงการพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้” และ “โครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย” (Contemporary Fashion Competition 2022) ภายใต้แนวคิด “ไทยใส่สบาย” ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนด้านการออกแบบแฟชั่นด้วยผ้าไทย โดยผนึกกำลังเครือข่ายนักออกแบบเครื่องแต่งกายและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวไทย ผู้มีชื่อเสียงร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ คำแนะนำและร่วมพัฒนาลายผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (นาทวี จะนะ เทพา สะบ้าย้อย)ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 20 กลุ่ม และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 6 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านศิลปะร่วมสมัย สาขาการออกแบบเครื่องแต่งกาย สร้างการรับรู้และตระหนักถึงคุณค่าของผ้าไทยที่ใส่ได้ในทุกโอกาส เป็นการสนับสนุนทุนทางวัฒนธรรม (เอกลักษณ์ผ้าไทยที่งดงาม) ของแต่ละชุมชน ผสมผสานการออกแบบแฟชั่น ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญ และเป็นเครื่องแสดงถึงพลัง Soft Power ที่ต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างชัดเจน
และเพื่อเป็นการน้อมนำแนวทางการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่น โดยนำทุนวัฒนธรรมในเรื่องผ้าไทยเป็นฐานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ผ้าไทยสู่ระดับสากล และแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ์ พระบรมราชินีที่ทรงสืบทอดพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงเลือกใช้ผ้าไทยสื่อความหมายอันงดงาม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ผ้าไทย พร้อมทั้งส่งเสริมภูมิปัญญาของพสกนิกรชาวไทยให้แพร่หลาย โดยได้เตรียมพร้อมการแสดงแบบแฟชั่นเครื่องแต่งกายผ้าไทยและนิทรรศการผ้าไทยร่วมสมัย ในงาน “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” ซึ่งจะมีการแสดงแบบการต่อยอดผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 76 จังหวัด นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการฉลองพระองค์ นิทรรศการผลิตภัณฑ์จากผ้า (CPOT) นิทรรศการอัตลักษณ์ผ้าไทย 76 จังหวัด ในระหว่างวันที่ 11 - 14 สิงหาคม 2565 ณ รอยัลพารากอนฮอล์ สยามพารากอน
ในด้านการออกแบบเพื่อชุมชน สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ขับเคลื่อนโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ค้นหาและสร้างสรรค์อัตลักษณ์ ท้องถิ่นให้กับ 165 อำเภอ ใน 15 จังหวัดเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ สร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนในชุมชน ทำให้เข้าใจการต่อยอด วัฒนธรรม นำไปสู่การเพิ่มพูนรายได้ในแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรมและยังยืน ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดำเนินการในจังหวัดน่าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 34 อำเภอ
ล่าสุดยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาและบำรุงรักษาระบบศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อการพัฒนาศักยภาพชุมชน สู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เชื่อมโยงทุกพื้นที่ในระดับประเทศ ผ่านกิจกรรม การจัดเก็บข้อมูลศิลปินร่วมสมัย ข้อมูลหอศิลป์ บ้านศิลปิน แกลเลอรี ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะของจังหวัด และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเมืองศิลปะและเจ้าภาพในการจัดงาน Thailand Biennale ต่อจากจังหวัดกระบี่ นครราชสีมา และจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติครั้งที่ 3 หรือ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567 การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดประเทศ เปิดจังหวัดเชียงรายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ให้กลับมาคึกคัก พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าสู่เชียงรายและประเทศไทย
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการบูรณาการองค์ความรู้และแหล่งข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อใช้ส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เชิงสร้างสรรค์ ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสู่ชุมชนและประเทศได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น