นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ได้จัดแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการให้บริการรถประจำทางด้านต่างๆ โดยได้เชิญสื่อมวลชนและตัวแทนแอดมินเพจบัสแฟนต่างๆ เข้าร่วม โดยนายกิตติกานต์ กล่าวว่า จากกระแสที่เกิดขึ้นในโซเชียลฯ ขสมก. ได้ปรับเปลี่ยนแผนมาตลอด ผู้อำนวยการเขตการเดินรถทุกคนรับนโยบายไปดำเนินการ

โดยประเด็นรถเมล์หลังเวลา 20.00 น. มีให้บริการน้อย ประชาชนที่เลิกงานกลางคืนลำบาก รถเมล์กะสว่างหลายสายยังไม่กลับมาให้บริการ ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดแผนงาน กลายเป็นแผนงานวงรอบการให้บริการ วันต่อมาลงพื้นที่ทุกจุด ทุกอู่ว่ามีการจัดแผนการเดินรถอย่างไร โดยเฉพาะสายที่มีการร้องเรียน เช่น สาย 543, 95, 114, 107 และ 18 เมื่อพบปัญหาแล้วจึงเสนอให้ตัดเสริม ตัดช่วง แต่ ขสมก.ไม่สามารถทำได้เอง ต้องขออนุญาตกรมการขนส่งทางบก

ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบก ได้เชิญ ขสมก. และผู้ประกอบการเอกชนเพื่อพูดคุยปัญหา ตนได้เสนอขออนุญาตตัดเสริม ตัดช่วงได้ และจะแจ้งให้กรมการขนส่งทางบกทราบ โดยจะไม่ดำเนินการที่นอกกรอบระเบียบ เมื่อปรับแผนการเดินรถแล้วได้ทดสอบ 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงกลางวันได้ปรับลดรถเมล์ลง นำมาให้บริการในช่วงเย็น เพื่อดูผลกระทบในช่วงกลางวัน เริ่มจากสาย 543 จากเขตการเดินรถที่ 1 (อู่บางเขน) ไปยัง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พบว่ายังรองรับการให้บริการได้อยู่ ประชาชนรอ 20-30 นาที และประชาชนที่ขึ้นมามีจำนวนค่อนข้างน้อย ต้องขออภัยที่อาจจะต้องรอนานในช่วงบ่าย จากนั้นได้นำรถในช่วงบ่ายมาวิ่งในช่วงเย็น

ส่วนสาย 18 ตนและนายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชน พบว่ารอนานมาก จึงรื้อแผนการเดินรถ พบว่าวิ่งจากท่าอิฐ จ.นนทบุรี ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ช่วงเย็นปล่อยรถชั่วโมงละ 1-2 คัน ซึ่งน้อยมาก และไม่มีทางวนรถไปอนุสาวรีย์ชัยได้ทัน จึงได้สั่งการให้เขตการเดินรถที่ 7 (อู่ท่าอิฐ) ปรับลดรถเมล์จากช่วงบ่ายที่มี 6-8 คัน สับไปอยู่ช่วงเย็นประมาณ 16.00-17.00 น. เพื่อให้วิ่งวนไปรับผู้โดยสารที่อนุสาวรีย์ชัยได้ทัน

ทั้งนี้ ขสมก. มีระบบ GPS มาสักระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้นำมาใช้ควบคุมการเดินรถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบนี้สามารถบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที หลังปรับแผนไปแล้ว อีกวันหนึ่งสอบถามประชาชน พบว่าไม่มีผู้โดยสารตกค้าง และขึ้นรถเมล์ได้ทันตามกรอบระยะเวลาทั้งหมด ซึ่งได้มีการดำเนินการจริง สุ่มสำรวจจริง และสำรวจอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งจะประเมินสถานการณ์ทุกวัน แก้ไขปัญหาหลายเส้นทาง ทั้งที่ 27 เส้นทางที่มีการร้องเรียน

ขณะที่ประเด็นการติดตั้งคิวอาร์โค้ดเพื่อรับเรื่องร้องเรียน พบว่ามีประชาชนร้องเรียน 1,713 ราย ส่วนใหญ่เรื่องบริเวณป้ายรถเมล์ไม่สะอาด ไฟส่องสว่างชำรุด เช่น ลงพื้นที่บริเวณตลาดนีออน ถนนเพชรบุรี ซึ่งเป็นป้ายสุดท้ายก่อนที่รถเมล์สาย 140 จะขึ้นทางด่วน พบว่าไม่มีศาลารอรถประจำทาง ไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ ขสมก. ทำหนังสือประสานไปยังกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อพิจารณาติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารและไฟฟ้าส่องสว่างมากขึ้นไปแล้ว

"ขสมก. ดูเหมือนว่าทำงานในหลายส่วน แต่มีข้อจำกัดหรือมีเนื้องานบางอย่างที่ไม่ใช่ของเรา เช่น การกำหนดสายรถเมล์ที่ลงท้ายด้วย ก. เช่น สาย 59ก. เปรียบกับสาย 68 เดิมที ขสมก.กำหนดได้ แต่ตอนนี้ ขสมก.ไม่สามารถกำหนดได้ เพราะที่ผ่านมามีการร้องเรียนว่ารถเมล์ 1 สายมี 3 ได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียวบริเวณป้ายหัวกะโหลก ทั้งที่เป็นการตัดช่วงและแบ่งช่วงตามใบอนุญาตที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด จึงทำวิธีแบบชาวบ้านเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ คนที่เคยขึ้นรถเมล์จะเข้าใจ แต่ก็มีคำถามว่าทำไมใส่ ก. จึงตอบว่าใส่โดยพลการไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของกรมการขนส่งทางบก"

สำหรับเรื่องป้ายรถเมล์ที่มีการร้องเรียน พบว่ามีทั้งไม่มีจุดสังเกตตำแหน่ง โครงสร้างป้ายรถเมล์ชำรุด บริเวณป้ายรถเมล์สกปรก ไฟฟ้าส่องสว่างชำรุด โดยพบว่าสูงสุดคือไม่มีโครงสร้างป้ายรถเมล์ เรื่องนี้ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของ ขสมก. แต่เป็นบทบาทหน้าที่ของ กทม. ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ขอฝาก กทม. ไปด้วย ส่วนเรื่องรถน้อย คอยนานนั้น ผลสำรวจจากการสแกนคิวอาร์โค้ดบนรถเมล์ พบว่า 38% ระยะเวลารอรถเมล์ 15-30 นาที ส่วนระยะเวลารอรถเมล์มากกว่า 1 ชั่วโมงมี 16.7% และช่วงเวลา 31-60 นาที มี 31.3% ซึ่งเป็นสิ่งที่จะดำเนินการแก้ไขโดยด่วน มีทั้งหมด 27 เส้นทางที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา

"อยากจะฝากประชาชนทุกคนที่ขึ้นรถเมล์ ถ้ารอรถเมล์หรือขึ้นรถเมล์สายไหนประสบปัญหารถน้อย คอยนาน สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด หรือแจ้งผ่านทางเฟซบุ๊ก ขสมก. พร้อมบวก ได้ ทางเราพร้อมจะรับปัญหาทุกเรื่องเพื่อนำไปแก้ไข สิ่งใดที่ไม่ใช่ปัญหาของเรา จะประสานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง" 

โดยเส้นทางวิกฤต 27 เส้นทางที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย เขตการเดินรถที่ 1 สาย 95 อู่รังสิต-บางกะปิ, สาย 185 อู่รังสิต-คลองเตย, สาย 129 อู่บางเขน-สำโรง, สาย 543 อู่บางเขน-ลำลูกกา, สาย 543 อู่บางเขน-ท่าน้ำนนทบุรี, เขตการเดินรถที่ 2 สาย 520 มีนบุรี-ตลาดไท, สาย 168 สวนสยาม-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 26 มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 514 มีนบุรี-สีลม, เขตการเดินรถที่ 3 สาย 102 ปากน้ำ-อู่สาธุประดิษฐ์, เขตการเดินรถที่ 4 สาย 72 ท่าเรือคลองเตย-เทเวศร์, สาย 179 พระราม 9-พระราม 7, สาย 205 อู่คลองเตย-เดอะมอลล์ท่าพระ, สาย 77 อู่สาธุประดิษฐ์-หมอชิตใหม่

ขณะที่เขตการเดินรถที่ 5 สาย 141 อู่แสมดำ-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาย 76 อู่แสมดำ-ประตูน้ำ, สาย 68 อู่แสมดำ-บางลำพู, สาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน, สาย 140 อู่แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, เขตการเดินรถที่ 6 สาย 556 อู่ไร่ขิง-สถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน, สาย 80 วัดศรีนวลธรรมวิมล-สนามหลวง, สาย 84ก หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา-วงเวียนใหญ่, สาย 7ก อู่บรมราชชนนี-พาหุรัด, เขตการเดินรถที่ 7 สาย 18 ตลาดท่าอิฐ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 97 กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์, เขตการเดินรถที่ 8 สาย 73 สวนสยาม-สะพานพุทธ, สาย 178 วงกลมสวนสยาม-สุคนธสวัสดิ์ เป็นต้น