นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่ที่โลกมีการระบาดโควิด-19 กว่า 2 ปี ขณะนี้มีสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (Variant of Concern: VOC) เหลือเพียงสายพันธุ์เดียวคือ โอไมครอน ที่ระบาดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแทบไม่มีสายพันธุ์อื่นไม่ว่าจะเป็นเบต้า​ อัลฟ่า​ หรือเดลต้า แล้ว โดยโอไมครอนก็ยังไม่ได้แตกรูปแบบหรือเปลี่ยนแปลงกลายเป็นตัวใหม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดกลุ่มโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตาว่าเป็น VOC lineages under monitoring หรือ VOC-LUM ซึ่งมีแนวโน้มทำให้มีการแพร่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ หรือสามารถติดเชื้อได้แม้ว่าฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ขณะนี้มีอยู่ 5-6 สายพันธุ์ที่ต้องจับตา เช่น BA.2.12.1 , BA.2.9.1 , BA.2.11 , BA.2.13 ซึ่ง BA.4 BA.5 ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย จากการที่กรมได้มีการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ที่มีเป็นข่าวในสหรัฐอเมริกา ว่าขณะนี้ก็เริ่มลดลง ซึ่งประเทศไทยก็พบประปราย

ข้อมูลระหว่างวันที่ 18-22 มิ.ย.2565  โดยสุ่มตรวจจากกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศและกลุ่มอื่นๆภายในประเทศ จำนวน 396 ราย พบเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 จำนวน 2 ราย BA.2 จำนวน 213 ราย และ BA.4/BA.5 จำนวน 181 ราย  ได้มีการส่งรายงานเข้าไปยังระบบฐานข้อมูลโควิด19โลก( GISAID) แล้ว ภาพรวมสัดส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยขณะนี้เป็น โอมิครอน BA.1 คิดเป็น 0.5 %  BA.2 คิดเป็น 53.8 % และ BA.4/BA.5 คิดเป็น 45.7 %

“คนที่เคยติดเชื้อโอมิครอน BA.1 – BA.2 มาก่อน สามารถติดเชื้อ BA.4 – BA.5 ซ้ำได้ ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเมื่อติดโอไมครอน BA.5 ภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อลดลงไปมาก 6-7 เท่า ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อลด 1-2 เท่า ถ้าฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันในร่างกายสูงมากพอจะสู้ได้มากกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น เพราะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันมากพอ ช่วยลดความรุนแรงและอาการต่างๆ และมีมาตรการป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว