นครพนม หมู่บ้านปริศนาที่เดียวในไทย ท้าลองชิมเปิบผัดเผ็ดตุ๊กแก การันตีความแซบเป็นยาสมุนไพรโบราณชูกำลัง  เงินสะพัด กลับมาคึกคัก หลังโควิดซา ออกล่าตุ๊กแก แปรรูปตากแห้งส่งขายจีน เงินสะพัดเดือนละหลายล้าน  มีทั้งสดทั้งแห้ง ครบวงจร ส่งปลายทางจีนปรุงยาสมุนไพรชูกำลัง ยันไม่สูญพันธุ์ มีฤดูกาลพักให้ขยายพันธุ์  สร้างรายได้สะพัดปีละหลาย 10 ล้านบาท

 

            เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม บรรยากาศเศรษฐกิจค้าขาย ของชาวบ้าน กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิดผ่อน คลาย ส่งผลดี ต่อหลายอาชีพ กลับมาคึกคัก  เช่นเดียวกับหมู่บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ถือเป็นหมู่บ้านปริศนาที่เดียวในไทย ทำอาชีพแปลกตามฤดูกาล ทั้ง จับตุ๊กแก ไส้เดือน ปลิง ส่งขาย สร้างรายได้มานานกว่า 30 ปี โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นฤดูกาลของการจับตุ๊กแก หลังโควิดซา ทำให้บรรยากาศการค้าขายตุ๊กแก กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยก่อนนี้ซบเซาได้รับผลกระทบจากโควิดระบาด การเดินทางไปมาลำบาก และกระทบการส่งออก  แต่หลังโควิดซาชาวบ้านสามารถออกไปล่าตุ๊กแกตัวสดมาส่งขาย เพื่อรวมกลุ่มแปรรูป ส่งออกขายไปจีน สร้างรายได้ ครอบครัวละ 50,000 – 100,000 บาท ต่อเดือน แล้วแต่ความขยัน และความสามารถในการหา ซึ่งมีการค้าขายครบวงจรรับซื้อทั่วประเทศ ทั้งการรับซื้อตัวสด ในราคาตัวละ 30 -40 บาท ส่วนแปรรูป จะขายในราคาตัวละ 50 -60 บาท ตามขนาด อีกทั้งมีการจ้างแรงงานแปรรูป ครบวงจร สร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ ให้กลับชาวบ้าน กว่า 300 ครัว เรือน กลับมาหมุนเวียนสะพัดอีกครั้ง โดยจากข้อมูลพบว่า แต่ละปี จะมีเงินหมุนเวียนสะพัดจากอาชีพแปรรูปตุ๊กแกส่งออก ปีละหลาย 10 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ทางด้าน นายชาญชัย ปาทา อายุ 65 ปี ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านผู้ค้าตุ๊กแก บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ยังมีการโชว์เมนูเด็ด ทำผัดเผ็ดเปิบตุ๊กแก การันตีความอร่อยยืนยันว่ากินเป็นอาหารได้ เป็นยาสมุนไพรชูกำลัง และชาวบ้านถือเป็นยารักษาโรคโปลิโอ ให้กับลูกหลานมาแต่โบราณ หากมีลูกหลานไม่ชอบกินข้าวหัวโตก้นรีบ จะนำตุ๊กแกมาปรุงเป็นอาหารให้กิน เป็นยาภูมิปัญญาชาชาวบ้าน กินแล้วหายจริง ส่วนปัจจุบันไม่นำมาปรุงเป็นอาหารเพราะถือว่ามีราคาแพง จึงจับมาขายแปรรูปส่งออกทำเงินแทน   

 ด้าน นายชาญชัย ปาทา อายุ 65 ปี ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านผู้ค้าตุ๊กแก บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เปิดเผยว่า สำหรับบ้านตาลได้ฉายาว่าหมู่บ้านปริศนา เนื่องจากจะมีอาชีพแปลกตามฤดูกาล ในช่วง ฤดูฝนจะจับปลิง กับตุ๊กแก แปรรูปขาย ส่วนฤดูหนาวจะเป็นเส้นเดือน โดยทำเป็นอาชีพหลักสืบทอดกันมากว่า 30 ปี หลังมีพ่อค้าคนกลางมาติดต่อ แนะนำให้ทดลอง แปรรูปลองผิดลองถูก จนมีความชำนาญ สำหรับช่วงนี้จะเป็นการซื้อตุ๊กแกสด มาแปรรูป ส่งขาย เป็นการรวมกลุ่มกันในหมู่บ้าน มีคนออกไปล่า รับซื้อมาทั่วประเทศ รวมถึงล่าตุ๊กแกในพื้นที่ละแวกหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งจะเริ่มช่วงเดือน มีนาคม – มิถุนายน จากนั้นจะพักการรับซื้อ เป็นช่วงการวางไข่ขยายพันธุ์ ที่ผ่านมายืนยันไม่กระทบการขยายพันธุ์ ทำมา 30 ปี ยังมีให้รับซื้อตลอด ส่งขายไปจีนออเดอร์รับไม่อั้น  โดยจะต้องผ่านการแปรรูป ส่งออกไปขาย ส่วนตัวสดจะซื้อในราคาตัวละ ประมาณ 30 -40 บาท ตัวแห้งแปรรูป จะขายในราคาตัวละประมาณ 50 -60 บาท แต่ละเดือนเฉพาะกลุ่มของตน แปรรูปส่งขาย สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัว มีพ่อค้าคนจีนมารับซื้อไม่อั้น สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดวันละเป็นแสน บางครอบครัวแปรรูปขายเอง ทำเงินได้เดือนละเป็นแสนบาท ส่วนคนที่ออกไปล่ามาขายจะมีรายได้เช่นกันวันละหลาย 1,000 บาท ถือเป็นอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ครบวงจรให้กับชุมชน ยิ่งช่วงโควิดซาทำให้การค้าขายตุ๊กแกกลับมาคึกคักอีกครั้ง

 ส่วน นายไสว โคตบิน อายุ 53 ปี ชาวบ้านตาลใหญ่ ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม อาชีพแปรรูปตุ๊กแกส่งออกขาย เปิดเผยว่า ตุ๊กแกที่รับซื้อสดจะนำมาแปรรูป เริ่มจากการชำแหละเอาเครื่องในออก ส่วนอื่นยังต้องอยู่ครบ รวมถึงหางจะต้องไม่ขาด จากนั้นจะช่วยกันในครอบครัวทำคนละหน้าที่ แปรรูป อีกคนจะนำตุ๊กแกมาขึงใส่ไม้แบบ ตามขนาด จะมีการวัดขนาดความกว้าง ส่วนใหญ่จะมีขนาดตัวละ 12 -15 เซนติเมตร จากนั้นจะใช้เหล็กหนีบขึงให้หนังตุ๊กแกตึง ขึงขาทั้ง 4 ข้างออก รวมถึงมัดหางใส่ไม้เป็นก้านยาว ก่อนที่จะนำไปอบลมควัน ประมาณ 1 คืน ให้แห้งไม่ให้เกิดปัญหาเน่าเสียเวลาแพ็กส่งไปขาย ถือว่าสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครัวครัว แต่ละวันจะมีการแปรรูปวันละ 400 -500 ตัว  จะมีทั้งรับจ้างแปรรูป ตัวละประมาณ 7 -10 บาท ส่วนขายสดตัวละ 30 -40 บาท ตากแห้งตัวละ 50 -60 บาทตามขนาด แต่ละเดือนหักค่าใช้จ่ายแล้ว สร้างรายได้ดีพอสมควรไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 -20,000 บาท มีเงินสะพัดในหมู่บ้านวันละนับแสน