วัดดอนแย้  ซึ่งตั้งอยู่ถนนไทรบุรี  อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในวัดที่เก่าแก่ของจ.สงขลา  และมีโบราณสถานที่ทรงคุณค่าอยู่คู่กับวัดมา 269 ปี คือพระอุโบสถและกุฎิเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมจีนหรือที่เรียกว่าทรงเก๋งจีนแห่งเดียวในประเทศไทย

   โดยวัดดอนแย้ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2203 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2213 มีพระอุโบสถเก่าแก่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2296 เป็นสถาปัตยกรรมจีน หรือแบบเก๋งจีน มีกำแพงโดยรอบ โครงสร้างพระอุโบสถเป็นคอนกรีตผสมไม้ ขนาดยาว 13.80 เมตร กว้าง 8.00 เมตร ตัวอาคารมีลักษณะแบบสถาปัตยกรรมจีนประเพณี กรอบซุ้มช่องหน้าต่างทำเป็นอาคารจีนจำลอง ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย 3 องค์ สภาพอาคารอยู่ในสภาพดียังคงใช้ประกอบพิธีสังฆกรรมตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าอยู่คู่กับวัดมา 269 ปี

    นอกจากนี้ภายในวัดยังมีกุฏิเจ้าอาวาสที่เป็นสถาปัตยกรรมจีนอีกหนึ่งหลัง ที่สร้างใกล้เคียงกันมา แม้ว่าภายหลังจะมีการต่อเติม แต่ก็ยังยึดรูปแบบศิลปะจีนที่สวยงามเอาไว้ และโรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลาก็กำเนิดที่วัดดอนแย้แห่งนี้เช่นกัน โดยผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้คือ มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ท่านเริ่มจัดตั้งโรงเรียนชั่วคราวขึ้นก่อนที่ ศาลาการเปรียญวัดดอนแย้ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2439 เปิดการเรียนการสอนครั้งแรก ที่วัดดอนแย้ ตอนหลังย้ายไปอยู่ วัดกลางและไปอยู่วิเชียรชมและย้ายไปอยู่ที่ ถนนสะเดา ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน

    พระมหาโชคดี ปริปุณฺณสีโล เจ้าอาวาสวัดดอนแย้ สงขลา กล่าวว่า   สำหรับอุโบสถหลังนี้สร้างมานานแล้ว แต่วัดสร้างมาเมื่อปีพ.ศ 2203ที่มีเอกสารยืนยัน ถ้าถามว่าทำไมถึงสร้างอุโบสถรูปทรงนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะสร้างในสมัยอยุธยา สำหรับการสร้างเราไม่รู้จุดประสงค์ แต่ว่าใบพระราชทานวิสุงคามสีมา เขาบอกว่าสำนักพระพุทธศาสนายืนยันว่า วัดนี้สร้างเมื่อปีพ.ศ 2203 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2213 ในส่วนการบูรณะตอนที่อาตมา มาอยู่ก็มีการบูรณะไป 1 ครั้งและมีการต่อเติมด้านหน้า สาเหตุที่ต้องต่อเติมด้านหน้าเนื่องจากเก๋งจีนไม่มี เชิงชาย เวลาฝนตก น้ำฝนมันจะสาดเข้ามาที่บานประตู เมื่อบานประตูถูกน้ำถูกฝนมันก็จะเปื่อยไปตามกาลเวลา จึงมีการต่อเติมเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำ เข้ามาทางด้านหน้าอุโบสถ โดยยังคงรักษารูปทรงเดิมอยู่ ทางด้านบริเวณพื้นในอุโบสถเมื่อก่อนต่ำกว่านี้ ที่บริเวณพระพุทธรูปได้มีการถมให้สูงขึ้นมาเพื่อไม่ให้น้ำท่วม อีกทั้งภายในมีความชื้น ที่มีส่วนให้พระพุทธรูปเกิดชำรุด ในส่วนกุฏิเจ้าอาวาสก็ได้ทำการสร้างรุ่นเดียวกันกับอุโบสถแห่งนี้เป็นเก๋งจีนเป็นรูปทรงเดียวกันข้างในก็เป็นไม้แบบนี้ เวลาบูรณะก็เปลี่ยนกระเบื้องหลังคารุ่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ทางวัดดอนแย้ก็พยายามรักษาอุโบสถและกุฎิเจ้าอาวาสเอาไว้ตั้งแต่สร้างขึ้น มีการบูรณะเพียงแค่ 1-2 ครั้ง เพื่อให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงแต่ยังคงยึดโครงสร้างและสถาปัตยกรรมแบบเดิมเอาไว้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่หาชมได้ยาก