วันที่ 25 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันครบรอบวันสถาปนาหนังสือพิมพ์สยามรัฐ หนังสือพิมพ์รายวันที่มีอายุยาวนานที่สุดที่ยังวางจำหน่ายอยู่ในขณะนี้ มีอายุ 72 ปีเต็ม ก่อตั้งโดย ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ซึ่งรอบรู้ศาสตร์หลายแขนงทั้งด้าน วรรณศิลป์ การศึกษา ศิลปะวัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ทั้งยังได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชน เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ในวันที่ 20 เมษายน 2554 จากยูเนสโก นับได้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นปราชญ์ของแผ่นดินได้คนหนึ่ง

ผลงานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของท่านได้ฝากไว้แก่แผ่นดิน คือ “โครงการไทยคดีศึกษา” หรือ “สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ในปัจจุบัน วัตถุประสงค์เมื่อแรกตั้งคือ เพื่อส่งเสริมการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับสังคมไทย เรียบเรียงตำราที่เกี่ยวกับสังคมไทย เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของสังคมไทยที่จะไปทำการค้นคว้าและสอน เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยแก่ประชาชนทั่วไป นับเป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ศึกษาเรื่องของไทยขึ้นอย่างเฉพาะทาง ทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ได้เรียนรู้เข้าใจวัฒนธรรมไทย จากนั้นก็ได้มีการต่อยอดมาเป็นโขนธรรมศาสตร์ และมาเป็นการพัฒนาการศึกษาวิจัยค้นคว้าไทยศึกษาของธรรมศาสตร์จนทุกวันนี้

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวถึงความสำคัญและภารกิจของโครงการไทยคดีศึกษาไว้ เมื่อ มิ.ย.2515 ดังนี้

... มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาซึ่งได้แสดงความสนใจและเอาใจใส่ในกิจการวิชา อันจะส่งเสริมความเข้าใจในหมู่คณาจารย์และนักศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยโดยตรง ถึงแม้ว่าวิชาการสาขาต่างๆ ในปัจจุบันได้พัฒนาก้าวหน้ารวดเร็วขึ้นทุกที แต่ความก้าวหน้าเหล่านั้นมักเป็นผลของการค้นคว้ารวบรวมเป็นหลักทฤษฎีจากฝ่ายวัฒนธรรมตะวันตกทั้งสิ้น

ฉะนั้น การจะนำแนวคิดและหลักการเหล่านั้นมาสอนหรือมาใช้ในบ้านเรานั้น จำเป็นที่จะต้องมีการเลือกสรรให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการของสังคมไทยโดยเฉพาะ อนึ่ง ศิลปวิทยาการของไทยเราเองซึ่งสืบเนื่องมาแต่บุพกาลนั้นเล่า เมื่อประสบความก้าวหน้าของวัฒนธรรมสมัยใหม่มักจะถูกละทิ้งให้เหี่ยวแห้งหรือผสมปนเปกับวัฒนธรรมภายนอกจนแปรเปลี่ยนลักษณะไป จริงอยู่วัฒนธรรมเป็นสิ่งไม่หยุดนิ่ง ต้องเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอยู่เสมอ แต่การสร้างสรรค์ปรับปรุงวัฒนธรรมนั้นจำเป็นต้องมีแนวทางอันถูกต้อง เพื่อผดุงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยึดเหนี่ยวความรู้สึกร่วมกันของสมาชิกทุกฝ่ายของสังคมไทย...

ตลอดช่วงเวลาของสถาบันไทยคดีศึกษา ทิศทางการดำเนินงานวิจัยได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามกระแสและนโยบายของผู้บริหารในขณะนั้น เช่น ช่วงปี 2521 - 2525 มุ่งเน้นการวิจัยในด้านการพัฒนาชนบท ช่วงปี 2525 - 2536 มุ่งส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับไทยศึกษา การตระเตรียมข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวิจัยและส่งเสริมให้มีการค้นคว้าวิจัยโดยอาจารย์และข้าราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในด้านการเรียนการสอนด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ โดยจัดตั้งศูนย์สนเทศเพื่อการวิจัยไทยคดีศึกษาในปี 2525

ช่วงปี 2542 - 2546 ดำเนินแนวทางการวิจัยเช่นเดิมและมุ่งเน้นส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมและศิลปะไทยมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยอันเป็นสิ่งสำคัญในการจรรโลงวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่กับสังคมไทย หรือในช่วงปี 2546 - 2549 ทำหน้าที่วิจัยค้นคว้าด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในเรื่องของไทยอย่างมีทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการวิจัยของชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2545 - 2549)

ช่วงปี 2555 - ปัจจุบัน อยู่ในทิศทางว่าจะส่งเสริมให้นักวิจัยผลิตงานวิจัยตามความถนัด โดยอยู่ในแนวทางการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันสถาบันฯยังมุ่งให้ความสำคัญต่อการสร้างงานวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคมเพื่อสนับสนุนการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมในระดับที่ใกล้เคียงกัน ด้วยตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นต่อการนำองค์ความรู้ที่สถาบันฯ ได้สร้างสมมาตั้งแต่ต้นแล้วนำมาเผยแพร่สู่สังคมในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้นับได้ว่าเป็นผลจากการวางรากฐานด้านการศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทย ในสาขาต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา เป็นการต่อยอดช่วยทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมอันดีของไทยให้คงอยู่ต่อไป

ข้อมูลจาก สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์