เมื่อเวลา 16.50 น.วันที่ 23 มิ.ย. 2565 ที่ห้องคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก ประจำปี 2565 ตอนหนึ่งว่า วันนี้ตื่นเต้นเพราะมาอยู่ท่ามกลางสาวๆ จากหลายประเทศ และจากที่ได้ฟังการพูดคุยแล้วมั่นใจในพลังของสตรี ขอชื่นชมบทบาทของท่าน และที่ตนบอกว่าตื่นเต้นเพราะผู้หญิงมีบทบาทอยู่หลายบทบาทด้วยกัน 1.เป็นภรรยาซึ่งงานหนัก2.แม่ของลูก 3.เป็นผู้ประกอบการหารายได้ให้กับครอบครัว อีกระดับก็เป็นประเทศชาติ ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ และ 4.เป็นผู้รักษาความสงบ เวลาผู้หญิงพูดต้องเชื่อ เขากลั่นกรองมาเรียบร้อยแล้ว วันนี้ก็ดีใจที่ได้มาพบกับทุกคน ที่มีสมาชิกหลายประเทศด้วยกัน ตนยินดีต้อนรับในฐานะเจ้าภาพที่ดีด้วยรอยยิ้มท่านคงทราบดีอยู่แล้ว วันนี้เราเผชิญสถานการณ์หลายอย่าง ทั้งโควิด-19 เรื่องความขัดแย้ง เศรษฐกิจต่างๆ มากมาย ถ้าร่วมมือกันก็จะสามารถก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ไปได้ด้วยดี เช่นเดียวกับที่เคยก้าวข้ามได้เสมอมาจากอดีตจนปัจจุบัน และได้มานั่งกันอยู่ที่นี่เราได้ผ่านเวลาอันยากลำบากมาเยอะแยะ หลายท่านก็ได้มา หลายท่านไม่ได้มา เพราะติดปัญหา ต่อไปนี้เราจะเริ่มต้นไปมาหาสู่กันได้แล้ว 

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความสามารถพลังของสตรีที่เราพร้อมขับเคลื่อนโลกของเราไปสู่อนาคตที่ดีมากยิ่งขึ้นอย่างเท่าเทียม วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว บรรดาสุภาพบุรุษต้องระวังตัวด้วย อย่าไปเกเรที่ไหน เพราะสามารถตามตัวได้ทั้งหมด แต่เชื่อมั่นว่าผู้ชายไม่ค่อยกล้าเท่าไหร่ เพราะผู้หญิงเข้มแข็งขึ้น และปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงสำคัญ รัฐบาลไทยได้ริเริ่ม เดินหน้า และดำเนินการพัฒนาประเทศในทุกมิติ รวมถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนการสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพของตนเอง รวมถึงการขับเคลื่อนแผนพัฒนาสตรี เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง ความเสมอภาคเป็นเป้าหมายที่สังคมต้องการ อีกทั้งสตรีมีบทบาทในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในฐานะผู้บริโภคและในฐานะผู้ผลิต 

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หนึ่งในตัวอย่างเป็นรูปธรรมคือ การส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังนำไปสู่สันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ โดยรัฐบาลเชื่อมั่นในศักยภาพผู้หญิง ได้จัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมอาชีพ ให้ความรู้และช่องทางการตลาด นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงเป็นผู้สอดส่องดูแลดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน โดยช่วงโควิด-19 อสม. กว่าล้านคนที่มากกว่า 90% เป็นผู้หญิง และรัฐบาลให้ความสำคัญ และส่งเสริมบทบาทของสตรีในภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ รัฐบาลยังเปิดโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในยุคดิจิทัล โดยร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานสตรีในสถานประกอบกิจการขึ้น 

 

นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ ไทยได้ร่วมรับรองเอกสารวาระการดำเนินงานในการสร้างความตระหนักในเรื่องการส่งเสริมขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสตรีในอาเซียนร่วมกับผู้นำอาเซียน และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 5 ได้แก่ การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน โดยประเทศไทยยังจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ในเดือนกันยายนนี้อีกด้วย

 

นายกฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี รัฐบาลตระหนักดีว่ายังมีกลุ่มสตรีที่ไม่สามารถเข้าถึงความเท่าเทียม และพยายามที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งโอกาส และความเท่าเทียมในการพัฒนาความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งการหยุดความรุนแรงในสตรี โดยรัฐบาลหวังเห็นส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเท่าเทียมอย่างมีเอกภาพ และ การเสริมสร้างและพัฒนาบทบาทสตรี ไม่ใช่เรื่องของสตรีฝ่ายเดียว และได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของสตรี โดยการสร้างทัศนคติที่ดี ให้มีความเสมอภาค และเท่าเทียมระหว่างเพศ ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ลด และขจัดปัญหาจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้พลังสตรีมีส่วนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเต็มศักยภาพ เป็นกุญแจสำคัญ ในการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาสตรีให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล