กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าผลักดันสินค้า GI ไทย กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง จังหวัดเชียงราย  สับปะรดห้วยมุ่น จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ได้รับความคุ้มครอง GI ในประเทศญี่ปุ่น พร้อมบุกตลาดส่งออกญี่ปุ่น สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยและวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน  

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ โดยการส่งเสริมสินค้าชุมชนท้องถิ่นให้ขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศจำเป็นต้องอาศัยทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับสินค้าท้องถิ่นและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในคุณภาพสินค้า GI ไทย ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำงานเชิงรุกเดินหน้าหารือร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ ของประเทศญี่ปุ่น ผลักดันการจดทะเบียนสินค้า GI ไทย รวม 3 รายการ ได้แก่ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง จังหวัดเชียงราย และสับปะรดห้วยมุ่น จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยกว่า 1,200 ล้านบาท

โดยปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ของประเทศญี่ปุ่น ได้ตรวจสอบคำขอรับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ใน 3 รายการดังกล่าวของไทยในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดเดินทางมาไทยเพื่อลงพื้นที่ดูแหล่งเพาะปลูกและแหล่งผลิตสินค้า GI ดังกล่าวในช่วงปลาย ปี 2565 

“ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้สินค้า GI ไทยได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม รวม 7 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานผ้าไหมยกดอกลำพูน และมะขามหวานเพชรบูรณ์ โดยการได้รับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยในต่างประเทศ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายโอกาสทางการค้าให้กับสินค้า GI ไทย ไปยังตลาดต่างประเทศ นำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศและชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” 

สำหรับวิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมีชื่อเสียง สามารถขอคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368