ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ธิดาวดีได้ “แนวคิดไทย” จากความช่างสังเกตและปฏิบัติแบบ “ลองผิดลองถูก”

ตอนเด็ก ๆ เธอมีเพื่อนไม่มาก และมีอยู่คนหนึ่งที่พ่อแม่ของเขาเป็น “คนดีมากๆ” ซึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบพ่อและแม่ของเพื่อนคนนี้กับพ่อและแม่ของธิดาวดีเอง

พ่อและแม่ของเพื่อนคนนี้ผลัดกันมาส่งเพื่อนที่เป็นลูกชายเพียงคนเดียว เมื่อหาที่จอดรถได้แล้วก็จะเดินจูงมือลูกชายมาช้า ๆ พอเดินมาถึงหน้าประตูโรงเรียนก็จะกอดและหอมแก้มลูกชายทุกครั้ง พร้อมกับพูดอยู่เพียงประโยคเดียวเหมือนกันทั้งพ่อและแม่ คือ “เป็นเด็กดี เชื่อฟังคุณครูนะจ๊ะ” ในขณะที่แม่ของธิดาวดีที่เป็นผู้มาส่งลูกทั้งสามคนอยู่เป็นประจำ จะปล่อยให้ลูกลงรถที่หน้าโรงเรียน แล้วพูดกับพี่ชายว่า “ดูแลน้องดี ๆ นะ” จากนั้นก็ขับรถออกไป จากนั้นพี่ชายกับน้องชายก็จะรีบวิ่งนำหน้าเธอไป พร้อมกับทำท่าล้อเลียนว่าเป็นเต่าบ้าง เป็นหอยทากบ้าง ทำนองเดียวกันกับตอนที่แม่มารับ ที่พี่ชายกับน้องชายจะรีบวิ่งขึ้นรถและแย่งขนมที่แม่ซื้อมาให้ จนบางทีเธอไปถึงช้าขนมก็หมดแล้ว จนจบชั้นมัธยมแต่ละคนก็เรียนกันคนละโรงเรียน และโตพอที่จะขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนได้ตามลำพัง ซึ่งธิดาวดีก็รู้สึกว่า “ปลอดโปร่ง” และมีความสุขกว่าเมื่อก่อนมาก

เธอสังเกตว่าพ่อและแม่ของเพื่อนมักจะพูดเพราะ ๆ กับลูก บางวันที่เธอมีความทุกข์เธอก็จะระบายให้เพื่อนคนนี้ฟัง เพื่อนก็จะบอกว่าพ่อและแม่ของเขาจะชวนคุยเรื่องที่สนุก ๆ ชวนไปเล่นกีฬาหรือออกไปขี่จักรยาน ก็เปลี่ยนอารมณ์เศร้านั้นได้ จนเมื่อขึ้นชั้นมัธยมเธอก็ได้เรียนโรงเรียนเดียวกันกับเขา และมักจะนัดกันไปขึ้นรถเมล์พร้อม ๆ กัน บางทีเลิกโรงเรียนแล้วเธอก็เถลไถลบอกที่บ้านว่าจะไปทำการบ้านที่บ้านเพื่อน ซึ่งพ่อแม่ของเธอก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะก็รู้จักกับพ่อและแม่ของเพื่อนคนนี้ บางวันเธอก็อยู่รับประทานอาหารเย็นและได้คุยกับพ่อแม่ของเพื่อนด้วย เธอรู้สึกว่าบรรยากาศที่บ้านเพื่อนดีกว่าที่บ้านของเธอมาก อย่างที่เธอเคยอ่านหนังสือที่เรียกกันว่า “อบอุ่น” ซึ่งในบ้านของเธอไม่มีบรรยากาศเช่นนั้น

พ่อและแม่ของเพื่อนคงสังเกตเห็นความผิดปกติในตัวเธอ แต่ก็ไม่ได้ซักไซ้ว่าเธอมีปัญหาอะไร และไม่ได้ถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม แต่พ่อและแม่ของเพื่อนได้ชวนเล่นเกมหรือทำงานฝีมือสวยงามๆ แบบเด็กผู้หญิง ก็ทำให้เธอเพลิดเพลินไปได้ ซึ่งนั่นเธอมารู้ภายหลังจากหนังสือที่เธอได้อ่าน ว่าเป็นจิตวิทยาในการเบี่ยงเบนความเศร้า รวมถึงความเอาใจใส่ด้วยความปรารถนาที่จะให้เรามีความสุขแบบที่พ่อแม่ของเพื่อนทำนั้น ศาสนาพุทธเรียกว่า “เมตตา” ต่อมาเมื่อเธอเข้ามหาวิทยาลัย ในวิชาสังคมวัฒนธรรมไทยที่เป็นวิชาพื้นฐานสำหรับนิสิตปี 1 บอกว่าความเมตตานี่เป็นหนึ่งในหลาย ๆ อย่างของเอกลักษณ์ไทย ตั้งแต่ สยามเมืองยิ้ม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจบุญสุนทาน กตัญญูรู้คุณ ฯลฯ จนกระทั่งเมตตากรุณานี้

ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยอีกนั่นแหละ ที่ได้สอนให้เธอจดจำได้อย่างแม่นยำถึง “อานุภาพ” ของความเมตตา วันนั้นมีเพื่อน ๆ นิสิตชั้นปี 1 ร้องไห้มาบอกเธอว่า “แววจะถูกไล่ออก” แววนี้ก็คือเพื่อนร่วมชั้นปีเดียวกันที่เพิ่งเอนทรานซ์เข้ามาได้พร้อมกันในปีนั้น ส่วนธิดาวดีก็ได้รับการนับถือจากเพื่อน ๆ ร่วมรุ่นว่าเป็นหัวหน้าหรือตัวแทนนิสิตปี 1 ดังนั้นเมื่อมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ทุกคนก็จะมาบอกเธอและขอให้เธอช่วยแก้ไขปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างหนึ่งก็คือเป็นตัวแทนไปคุยกับรุ่นพี่หรืออาจารย์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ในห้องพักคณบดี มีคนอยู่เพียง 3 คน คือ ธิดาวดี แวว และท่านคณบดี โดยแววมีสีหน้าซีดโทรม นั่งก้มหน้าและร้องไห้อยู่ตลอดเวลา ท่านคณบดีดูมีสีหน้าที่เคร่งขรึม ตาแข็งเหม็งจ้องไปที่แวว ก่อนที่จะพูดว่า “อาจารย์ซักถามแววละเอียดแล้วหละ เธอรับสารภาพว่าเขียนโพยคำตอบเข้าไปจริง แล้วเอาเหน็บไว้ที่ขอบเข็มขัด” ธิดาวดีนี่งอึ้ง จนกระทั่งท่านคณบดีพูดขึ้นอีก ครั้งนี้สีหน้าเปลี่ยนเป็นยิ้มแย้ม พร้อมกับคำพูดว่า “นับว่าแววยังโชคดีนะที่ยังไม่ได้หยิบออกมาใช้ อาจารย์จะแจ้งแก่คณะกรรมการคณะว่า แววเอากระดาษที่จดช่วยจำเข้าห้องสอบโดยไม่ได้ตั้งใจ พอดีมันปลิวหล่นที่พื้น กรรมการคุมสอบเห็นเข้าก็มาฟ้องว่าทุจริต แต่น่าจะเป็นความเผอเรอมากกว่า ไม่มีเจตนาทุจริต น่าจะแค่ภาคทัณฑ์”

แววได้เรียนต่อจนจบ แม้จะไม่ได้เกียรตินิยมเหมือนธิดาวดี แต่ก็ได้เรียนต่อปริญญาโท โดยไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน แต่คนละมหาวิทยาลัย ธิดาวดีพอเรียนจบปริญญาโทก็กลับมาทำงานที่บริษัทบัตรเครดิตดั้งเดิม ส่วนแววนั้นเรียนต่อจนจบปริญญาเอก ทราบว่าแววได้ทุนของรัฐบาล เมื่อจบแล้วก็ต้องมาใช้ทุนที่กระทรวงการคลัง และเติบโตมาตามลำดับ โดยเมื่อตอนที่อายุ 50 ปีเท่ากันกับธิดาวดี แววได้ขึ้นถึงตำแหน่งรองอธิบดีกรม ๆ หนึ่งแล้ว ซึ่งเวลาที่มีงานเลี้ยงรุ่น แววก็มาร่วมงานด้วยทุกครั้ง และก็ต้องมาหาธิดาวดีพร้อมกับรำลึกถึง “ในห้องนั้นเมื่อวันนั้น” อยู่ทุกครั้ง

หลังจากออกมาจากห้องนั้นในวันนั้น เธอได้เจอท่านคณบดีอีกในวันหนึ่ง เธอถามท่านคณบดีว่าวันนั้นทำไมท่านคณบดีตัดสินใจ “ปล่อย” แววไปเสียจากความผิดที่ทำทุจริตในห้องสอบ ท่านคณบดีบอกว่า แววไม่ใช่คนแรกที่ทำอย่างนั้น ท่านอยู่ในมหาวิทยาลัยมา 20 กว่าปีเจอเรื่องแบบที่แววทำนี้ทุกปี และถ้าคนที่ทำผิดท่านได้ซักถามพูดคุยด้วยแล้ว ท่านก็จะรู้ว่า “ควรให้อภัย” หรือไม่ ธิดาวดีถามต่อไปอีกว่าท่านคณบดีรู้ได้อย่างไรว่าใครควรให้อภัยหรือไม่ให้อภัย ท่านตอบว่าท่านไม่รู้หรอก เพราะถามไปหลาย ๆ คนก็ปฏิเสธ แต่ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงท่านก็ปล่อยไปเกือบทุกคน เพราะท่านใช้หลักคิดที่ท่านยึดถือมาโดยตลอดเพียงหนึ่งเดี่ยว นั่นก็คือ “เมตตา” ดั่งพุทธวจนะที่กล่าวไว้ว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลกา”

“เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก อาจารย์ได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก พอเข้าโรงเรียนครูก็เคยเป็นหัวหน้าชั้นแบบเธอนี่แหละ ได้เห็นเพื่อน ๆ เกเร ๆ หลายคน จนแม้แต่พ่อแม่ก็แทบจะทนรับเลี้ยงไม่ได้ แต่ครูใหญ่ที่โรงเรียนท่านก็ไม่เคยไล่ใครออกสักคน ท่านบอกว่าถ้าเด็กอยากออกก็ขอให้ออกไปเอง แต่ถ้าใครยังอยากเรียน ท่านก็ให้เรียนต่อทุกคน ไม่เห็นมีใครไม่อยากสักคน แสดงว่าคนเหล่านั้นต้องมีธาตุดีอยู่ในตัว นั่นก็คืออยากอยู่ต่อ คนที่ไม่อยากอยู่นั้นคือคนที่ไม่เอาไหนอย่างแท้จริง ที่สุดเมื่อเราตัดสินใจให้เขาอยู่แล้ว เราก็ต้องหาอะไรปลอบใจตัวเรา ว่าเราไม่ได้ทำบาปทำความผิด นั่นก็คือความเมตตา ความเมตตาย่อมให้อภัยกับทุกคนได้เสมอ เมตตานี้เป็นหนึ่งในธรรมที่เป็นพรหมแห่งโลก พระพรหมเป็นผู้ดูแลรักษาโลกและมนุษย์ พ่อแม่คือพรหมของลูก และครูก็คือพรหมของศิษย์”

ธิดาวดีนึกถึงสิ่งที่เธอทำมานั้นอยู่เสมอว่า เธอไม่มีผิดมีบาปกับใครเลย เพราะเธอทำด้วยเมตตามาโดยตลอด