“สหกรณ์” คือ คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมโดย ช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการ อุดมการณ์ วิธีการสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก ซึ่งสมาชิกสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นทั้ง “เจ้าของ เป็นผู้บริหารและเป็นผู้ใช้บริการ” ดังนั้น สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรต้องมี  ส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ได้ แต่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป็นองค์กรทางธุรกิจที่แตกต่างจากองค์กรอื่นเน้นการให้บริการและช่วยเหลือสมาชิกเป็นหลัก ไม่แสวงหากำไรแต่ต้องไม่ละเลยหลักการทำธุรกิจที่ดี โดยมีแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรดังนี้

1.การประชุม การให้การศึกษาอบรมแก่สมาชิกและบุคลากรของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ การประชุมกลุ่มสมาชิก เพื่อให้สมาชิกได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างความเข้าใจ และรวมถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับธุรกิจ เพื่อสมาชิกจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้และรวมถึงการประชุมที่ให้ความรู้ ให้การศึกษาอบรม ในเรื่องการสร้างจิตสำนึกในการเป็นสมาชิก และการจัดทำข้อมูลพื้นฐานของสมาชิก

2.เมื่อมีการประชุมแล้ว ควรจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจริง เช่น กิจกรรมการระดมเงินฝาก การระดมหุ้น การจัดสวัสดิการ เพื่อให้สมาชิกได้เห็นจริง และจะเกิดความภักดี อาจรวมถึงการจัดกิจกรรมในโอกาสพิเศษต่างๆ ได้แก่ วันครบรอบการจดทะเบียน โดยจัดให้มีการการระดมหุ้นแจกรางวัลแก่สมาชิก กิจกรรมตามประเพณีและเทศกาล รวมถึงกิจกรรมส่งแสริมความสามัคคี เช่นการแข่งขันกีฬาในวันสหกรณ์แห่งชาติ โดยอาจจัดงานร่วมกับสหกรณ์อื่นหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การมอบเงินช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทุพพลภาพ โรคร้ายแรง ยากจน ขัดสน ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ตลอดจนองค์การกุศลต่างๆ ด้วย รวมถึงการจัดประกวดซึ่งเมื่อสมาชิกทำความดีควรมีการมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ

3.การดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจรและมีความหลากหลาย แต่ต้องไม่เกินกำลังของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรโดยมุ่งเน้นการทำธุรกิจกับสมาชิกเป็นสำคัญ โดยจะต้องมีการสำรวจความต้องการของสมาชิก ในทุกประเภทธุรกิจ จะทำให้สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้ทั้งในด้านการวางแผนการผลิต (การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์) ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนให้แก่สมาชิกได้ และส่งผลให้เกิดความใกล้ชิดสมาชิก สมาชิกมีความ ไว้เนื้อเชื่อใจและจงรักภักดี เพราะสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทำให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นการบริหารการจัดซื้อปัจจัยการผลิตเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระต้นทุน ด้านสินค้าคงคลัง และสามารถควบคุมรายจ่ายของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้  จึงพอสรุปในแต่ละด้านของการทำธุรกิจได้ ดังนี้

(1) การรับฝากเงิน กำหนดรูปแบบเงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม โดยมีเป้าหมายในการใช้เงิน เช่น เงินฝากเพื่อการศึกษา เงินฝากเพื่อประกอบอาชีพ และเพื่อส่งเสริมและปลูกฝังนิสัย การประหยัดอดออม เช่น เงินฝากสัจจะออมทรัพย์

(2) การให้กู้เงิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หรือการลงทุนประกอบอาชีพ หรือใช้จ่ายยามจำเป็น รวมถึงการจ่ายเงินกู้เป็นวัสดุหรือสิ่งของ บริการให้ตรงตามความต้องการของสมาชิกทั้งเวลาและคุณภาพ เช่น ปุ๋ย เครื่องมือในการประกอบอาชีพ ฯลฯ และต้องคำนึงถึงความสามารถในการส่งชำระคืนเงินกู้ ของสมาชิกด้วย

(3) การจัดสินค้ามาจำหน่าย ควรสำรวจความต้องการสินค้าจากสมาชิกและจัดหามาจำหน่ายให้สมาชิก โดยไม่มีสินค้าคงเหลือ อำนวยความสะดวกมีบริการส่งถึงบ้าน หรือนำไปขายในพื้นที่รวมทั้งจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาวางภายในร้านค้าของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร

(4) การรวบรวมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ประสานงาน สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร  กลุ่มอาชีพ ภาคเอกชน และหน่วยงานภาคีอื่น ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการนำสินค้าที่รวบรวมไปจำหน่าย ตลอดจนการควบคุมการบริการในการรวบรวมผลผลิตให้มีคุณภาพ มีการบริหารจัดการเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมให้มีความเที่ยงธรรม มีการตรวจสอบเครื่องชั่ง จากหน่ายงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ

(5) ธุรกิจบริการ เป็นการเพิ่มประเภทธุรกิจเพื่อบริการสมาชิกมีความหลากหลายมากขึ้น โดยออกหน่วยบริการสมาชิกตามหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น รับชำระค่าบริการสาธารณูปโภคต่างๆ การจัดตลาดนัด และต่อทะเบียนรถยนต์ ฯลฯ เป็นต้น

(6) การส่งเสริมด้านอื่นๆ ดังนี้

- ส่งเสริมให้สมาชิกนำรายได้จากเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืนฝากไว้ในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร แล้วค่อยทยอยถอนไป  ใช้จ่ายยามจำเป็น

- ให้ของขวัญ หรือของรางวัลแก่สมาชิกเป็นคูปองใช้ซื้อสินค้าในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร หรือนำสินค้าในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมาเป็นของขวัญของรางวัล

-ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนการให้บริการระหว่างสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มากขึ้น

-การบริการ คำนึงถึงปริมาณจุดคุ้มทุนและบริการตามความต้องการสมาชิก

4.การประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกรับรู้ข่าวสารของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ ผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น แผ่นพับ แผ่นปลิว หอกระจายข่าว สถานีวิทยุท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ SMS และการสื่อสารผ่าน line กรณีที่สมาชิกสามารถเข้าถึงการบริการนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อ สื่อสาร การทำธุรกิจของสมาชิก การจัดให้มีตู้แสดงความคิดเห็น ตลอดจนการกำหนดจุดบริการตามกลุ่มสมาชิกเป็นช่วงเวลาที่แน่นอน เช่นทุกวันศุกร์สัปดาห์ที่สามของเดือน เป็นต้น

5.การจัดสวัสดิการสมาชิก เพื่อให้สมาชิกมีความภูมิใจที่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ควรมีการจัดสวัสดิการต่างๆ ให้แก่สมาชิก ได้แก่ กรณีเสียชีวิต ค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษาบุตรสมาชิก  การคัดเลือกสมาชิกดีเด่นไปศึกษาดูงาน การตรวจสุขภาพประจำปี การให้ของขวัญบุตรสมาชิกแรกเกิด  และการให้บริการอุปกรณ์เครื่องใช้ในการจัดงานต่างๆ เป็นต้น

ภายใต้การแนะนำ ส่งเสริมของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง มีสหกรณ์ จำนวน 75 แห่ง กลุ่มเกษตรกร จำนวน 8 แห่ง และผลการจัดมาตรฐานในปี 2564 ที่ผ่านมาสหกรณ์ที่สามารถสร้างการมี ส่วนร่วมของสมาชิกให้ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดได้ จำนวน 64 สหกรณ์ คิดเป็นร้อยละ 85.33 และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50.00 และในปี 2565 มุ่งเน้น แนะนำส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกให้เพิ่มขึ้นตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะทำให้สหกรณ์สามารถสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธา ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือการมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นต่อไป