เปิดมิติใหม่การให้คำปรึกษาผู้ประสบปัญหาโรคซึมเศร้าโดยกรมสุขภาพจิต กับ DMIND นวัตกรรม AI จากแพทย์และวิศวฯ จุฬาฯ คัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม แม่นยำ เข้าถึงง่าย ใช้สะดวก ช่วยลดภาระแพทย์และนักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ทั้งนี้ถือเป็นโรคหนึ่งทางจิตเวชที่เกิดจากความเครียดของปัญหารอบด้าน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด การแข่งขันในสังคม รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพและกรรมพันธุ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคนทั่วโลก
จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโรคซึมเศร้าจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในระดับที่น่ากังวล โดยในปี 2564 มีคนไทยอย่างน้อย 1.5 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจำนวน 100 คน เข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น
และมีสถิติผู้พยายามฆ่าตัวตายอยู่ที่ปีละ 53,000 ราย หรือประมาณ 6 คนต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และ 70% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คาดการณ์กันว่าในอีก 18 ปีข้างหน้าจะส่งผลกระทบกลายเป็นภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้อันดับ 1 ของทั่วโลก ด้วยสถิติและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้จิตแพทย์ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ด่านหน้า อยากที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้บรรเทาเบาบางลง
และเมี่อวันที่ 20 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อ.ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้ช่วยอธิการบดีด้านนวัตกรรม จุฬาฯ รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีด้านนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า แอปพลิเคชันที่ช่วยให้ประชาชน สามารถประเมินความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และข้อความ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างอัตโนมัติ และมีความถูกต้อง แม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัย
รศ.พญ.โสฬพัทธ์ ผู้ช่วยคณบดีด้านนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ ทราบดีว่าคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะแสดงลักษณะอาการของโรคออกมาผ่านทั้งน้ำเสียง คำพูด และการแสดงออกทางสีหน้า หากมีเครื่องมือที่สามารถนำมาวิเคราะห์ตรงนี้ได้ก็คงจะดีไม่น้อย นั่นคือที่มาของการพัฒนา DMIND แอปพลิเคชั่นสำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า นวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท Agnos Health ซึ่ง D ย่อมาจาก Depression หรือโรคซึมเศร้านั่นเอง DMIND เป็นเครื่องมือที่นำมาช่วยจิตแพทย์ โดยไม่ได้มาทำหน้าที่แทนจิตแพทย์ แต่นำมาช่วยคัดกรองว่าใครคือเคสเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คนที่มีอาการโรคซึมเศร้าเบาหน่อยค่อยมีการช่วยเหลือในลำดับต่อๆ ไป
ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) กำลังมีบทบาททางการแพทย์มากขึ้น ทั้งในแง่การตรวจคัดกรอง การประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงต่อการเป็นโรค การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวิเคราะห์ภาพรังสีทางการแพทย์ การวินิจฉัย และการรักษา สำหรับโรคทางจิตเวช เริ่มมีการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการทำนายโรคมากขึ้น
คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ได้เล็งเห็นโอกาสจากการใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงการรักษาโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้น จึงได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ภายใต้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างอัตโนมัติและมีความถูกต้องแม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์
โดยประชาชนสามารถเข้าถึง DMIND Application ได้ทาง https://bit.ly/DMIND_3 (หรือสแกน QR Code ตามรูปแนบ) นอกจากนี้ DMIND Application ยังเชื่อมต่อกับช่องทางการสื่อสารของหมอพร้อม ได้แก่ LINE Official Account และ Facebook ซึ่งสามารถเข้าใช้บริการได้ผ่านขั้นตอน ดังนี้ เข้าแอปพลิเคชัน Line หมอพร้อม กดลิงก์เพื่อเพิ่มเพื่อน https://bit.ly/2Pl42qo เลือกเมนู คุยกับหมอพร้อม (Chatbot) เลือกเมนู ตรวจสุขภาพใจ เริ่มทำแบบทดสอบ
สามารถประเมินความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง (Voice feature) และการตอบคำถามจากข้อความคุณลักษณะเฉพาะ (Text feature) ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการประเมินด้านสุขภาพจิตและค้นหาผู้ที่มีภาวะอารมณ์ซึมเศร้าได้อย่างรวดเร็ว เมื่อประชาชนได้ใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวแล้ว จะมีการแสดงผลใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับปกติ (สีเขียว) ระดับกลาง (สีเหลือง) และระดับรุนแรง (สีแดง)
หากประชาชนได้ระดับสีเขียว ทางแอปพลิเคชันจะแนะนำข้อมูลการดูแลสุขภาพจิตโดยทั่วไป หากได้สีเหลือง ทางศูนย์สุขภาพจิตเขต 1-13 ภายใต้กรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ จะติดตามเคสในพื้นที่ และหากได้สีแดงซึ่งมีความเสี่ยงรุนแรง ทีมสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะรับหน้าที่ติดตามอาการ เพื่อประเมินสุขภาพจิต สำรวจปัญหา พิจารณาหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการและการประเมินด้านสุขภาพจิตได้มากขึ้น เกิดระบบบริการรูปแบบใหม่ในการส่งต่อผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าให้ได้รับการรักษาแบบ Fast Track กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จะช่วยทำให้การให้บริการรักษาด้านสุขภาพจิตมีศักยภาพที่ดีขึ้น ทั้งในด้านของการรักษา การประเมินอาการ การเฝ้าระวัง การติดตาม และการช่วยป้องกันสภาวะสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสามารถเข้าใช้ แอปพลิเคชัน DMIND ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป หากมีปัญหาสุขภาพจิตใจสามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323