วันที่ 21 มิถุนายน 2565 เวลา 17.34 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามลำดับดังนี้
- รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กราบบังคมทูลเบิกบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2562-2563 จำนวน 64 ราย ที่ยังไม่ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เนื่องจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นกรณีพิเศษ
- รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กราบบังคมทูลเบิกบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำปีการศึกษา 2561-2562 จำนวน 56 ราย ที่ยังไม่ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เนื่องจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นกรณีพิเศษ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงรับทราบถึงความตั้งใจของบัณฑิตและทรงเข้าพระราชหฤทัยในการที่บัณฑิตไม่สามารถจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บัณฑิต ที่ยังไม่ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรด้วยเหตุดังกล่าว เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นกรณีพิเศษ ในวันนี้ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่บัณฑิตและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระพุทธรูป “พระพุทธธรรมนาถมุนี” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระพุทธรูป “พระพุทธลีลามหามุนี ปัญญาสมวรรษดิถี ไทยคดีศึกษาภิวัฒน์” แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
ต่อจากนั้น เวลา 17.59 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และประธานที่ปรึกษาสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำ นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผ้าลายประจำจังหวัด จำนวน 76 ผืน แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 3 มิถุนายน 2565
ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรในทุกภูมิภาคของประเทศ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยราษฎรทรงทุ่มเทกำลังพระวรกาย ในการพระราชทานความช่วยเหลือ และทรงให้ความสำคัญผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน มาจำหน่ายในบริเวณพื้นที่จัดงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในแต่ละภูมิภาค ในห้วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๖๓
ที่จังหวัดสกลนคร จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสุราษฎร์ธานีและได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และผู้ประกอบการในช่วงพักพิธีพระราชทานปริญญาบัตรทุกวัน ทรงมีพระราชปฏิสันถารและพระราชทานกำลังใจแก่ราษฎรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแต่ละครั้ง ทรงเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมและผ้าพื้นเมืองซึ่งมีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันลึกซึ้งที่ทรงเห็นคุณค่าของผ้าไหม และผ้าพื้นเมือง และทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสานและอนุรักษ์งานศิลป์ให้ดำรงไว้ในแผ่นดิน
ในการนี้ กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านกระทรวงมหาดไทย จึงได้ร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยให้จังหวัดต่างๆ ทั้ง 76 จังหวัด ได้ศึกษาและค้นหาเอกลักษณ์ผ้าพื้นเมืองของจังหวัด เพื่อออกแบบและพัฒนาเป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด อาทิ ผ้าลายกาบบัว จังหวัดอุบลราชธานี ผ้าลายหงส์ในโคม จังหวัดเชียงใหม่ และผ้าลายพิกุลพลอย จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าประจำจังหวัดต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงการผสมผสานอัตลักษณ์ความหลากหลายของเชื้อชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม วิถีชีวิต และเป็นมนต์เสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินต่อไป