วันที่ 19 มิ.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า ...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 352,084 คน ตายเพิ่ม 621 คน รวมแล้วติดไป 543,972,433 คน เสียชีวิตรวม 6,340,008 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ไต้หวัน อิตาลี ออสเตรเลีย และเกาหลีเหนือ
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 75.52 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 66.5
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัพเดตวัคซีนเด็กเล็ก
ล่าสุดเมื่อคืนนี้ US CDC Panel โหวต 5-0 ให้วัคซีน mRNA ในเด็กเล็กอายุ 6 เดือนถึง <5 ปี
คาดว่าน่าจะมีการเริ่มฉีดกันได้ในสัปดาห์หน้า
เป็นข่าวดีสำหรับประชากรตัวน้อย เพื่อที่จะได้มีวัคซีนใช้ป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
...การเปิดเสรีการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19
จะสังเกตได้ว่าพิษทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับประเทศทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การอยู่รอดปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ระบาดนั้น ต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า วัคซีนไม่ใช่คำตอบหลักเพียงคำตอบเดียว
การฉีดวัคซีน จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อลงได้บ้างแต่ไม่มากนัก แต่จะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตลงได้
อย่างไรก็ตาม แม้ฉีดวัคซีนไปตามกำหนด ก็ไม่ได้การันตี 100%
ถ้าไม่ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ก็จะติดเชื้อได้ ป่วยได้ และตายได้ ดังที่เราเห็นสถิติในแต่ละวันจากทั่วโลก
สถานการณ์สังคมโลกในปัจจุบันรวมถึงประเทศไทย จึงเป็นไปในลักษณะต้องพึ่งพาตนเอง ใส่ใจตนเอง และป้องกันตนเองมากขึ้น ไม่สามารถพึ่งพานโยบายหรือมาตรการทางสังคมได้ด้วยข้อจำกัดที่อธิบายมาข้างต้น
การใช้ชีวิตประจำวัน การทำมาค้าขาย การพบปะติดต่อธุรกิจ รวมถึงการศึกษาเล่าเรียนนั้น จำเป็นต้องดำเนินไปในวิถีทางที่ใส่ใจและเน้นความปลอดภัย จึงจะทำให้แต่ละคนอยู่รอดปลอดภัยไปได้ตลอดช่วงเวลาที่โควิดยังไม่ซาลง
โควิด...ไม่ได้ติดแล้วชิลๆ ไม่กระจอก ไม่ใช่หวัดธรรมดา
โควิด...ไม่จบแค่หาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และก่อให้เกิดความผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้
ย้ำอีกครั้งว่า "การใส่หน้ากากเสมอ ใช้ให้ชิน เป็นอวัยวะที่ 33 ของตัวเรา จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก"
ขอบคุณข้อมูลและภาพ เพจเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat