18 มิถุนายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ “หมอธีระ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ห่วงสถานการณ์โควิด หลังพบว่าการแพร่ระบาดทั่วโลกมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่งานวิจัยพบว่าอาการ Long COVID ยังน่าห่วง มีรายละเอียดดังนี้

 

18 มิถุนายน 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 477,269 คน ตายเพิ่ม 1,008 คน รวมแล้วติดไป 543,596,571 คน เสียชีวิตรวม 6,339,273 คน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 64.89 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 54.56

..สถานการณ์ระบาดของไทย...

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

.อัพเดตโควิด-19...

WHO weekly epidemiological update เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ในรอบสัปดาห์ก่อนทั่วโลกมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงขึ้น 4% (เสียชีวิตไปกว่า 8,700 คน) 

 

ในขณะที่การติดเชื้อมีแนวโน้มสูงขึ้นมากในบางทวีป เช่น ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งรวมไทยอยู่ด้วย) มีอัตราการติดเชื้อรายสัปดาห์เพิ่มมากขึ้นถึง 33% 

 

ส่วนทวีปอเมริกา มีอัตราติดเชื้อเพิ่ม 13% และแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เพิ่มขึ้น 58%

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เราตระหนักถึงสถานการณ์ทั่วโลกว่ายังไม่นิ่ง และมีการปะทุเกิดขึ้นได้หากประมาท การป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรจะช่วยลดความเสี่ยงได้

8

อัพเดต Long COVID...

Millet C และคณะจากสหรัฐอเมริกา ติดตามประเมินผู้ติดเชื้อโรคโควิดตั้งแต่ปี 2020 จำนวน 173 คน เพื่อดูว่ามีอาการคงค้างมากน้อยเพียงใด โดยทำการประเมินจนถึง 2 ปีหลังจากการติดเชื้อ ทั้งนี้มีผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่งที่มีประวัติเคยติดเชื้อแล้วต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล พบว่า...

 

ณ 1 ปีหลังติดเชื้อ มีราวครึ่งหนึ่ง (50.8%) ที่รายงานว่ามีอาการผิดปกติคงค้างอย่างน้อย 1 อาการ ในขณะที่มีอีกถึงหนึ่งในสี่ (23.1%) ที่ยังมีอาการคงค้าง ณ 2 ปีหลังติดเชื้อ

 

งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นว่า การติดเชื้อ แม้รักษาหายแล้ว ก็มีความเสี่ยงต่อภาวะ Long COVID และจะยาวนานเรื้อรัง บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิต การทำงาน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

หมอธีระ ย้ำว่า สถานการณ์ไทยนั้น ยืนยันอีกครั้งว่า การใส่หน้ากากเป็นอาวุธที่จำเป็นที่จะใช้ประคับประคองให้เราผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างปลอดภัย ควรใส่หน้ากากอย่างสม่ำเสมอ

“ คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ควรป้องกันตัวเองและดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กๆ มีการติดเชื้อกันมาก และที่สำคัญคือเด็กเล็กๆ ยังไม่ได้รับวัคซีนกัน ตอนนี้ไม่ใช่เวลาถอดหน้ากากทิ้งครับ ”

 

อ้างอิง :
Millet C et al. Symptoms Persist in Patients Two Years after COVID-19 infection: A Prospective Follow Up Study. Clinical Microbiology and Infection. 16 June 2022.

ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat”