ศอ.บต.ชื่นชมวธ. ขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศาสนา วิถีชีวิต มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาวบ้านหลากเชื้อชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของส่วนราชการภายใต้แผนงานบูรณาการฯ พ.ศ. 2565 มิติด้านการพัฒนา ประจำไตรมาส 2 ที่ จ.สงขลา ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยผู้แทนของวธ. ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการอยู่ร่วมกันเป็นพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ตามเป้าหมายศอ.บต. ด้านความมั่นคง และนโยบายวธ.ในการส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์ การจัดการองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม รวมถึงผลักดันอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F โดยเฉพาะผ้าไทย (Fashion) ได้จัดการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกาย “ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้” ตามแนวคิด BATIK CITY นำผ้าบาติกจาก 3 พื้นที่ชายแดนใต้และสงขลาเป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อรู้คุณค่าของผ้าไทยและสนับสนุนการนำมรดกทางวัฒนธรรมมาพัฒนาสู่สากล

นอกจากนี้ ส่งเสริมการเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ที่จะพัฒนาเป็นศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีพื้นที่ เช่น ห้องจัดแสดงเรื่องราวทางสังคมวัฒนธรรม โรงละคร ลานศิลปวัฒนธรรม ห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน เช่น “รากร่วมชายแดนใต้” อีกทั้งในเดือน มิ.ย. – ก.ค. 2565 มีนิทรรศการ “ต้นแบบผลิตภัณฑ์จากมรดกทางวัฒนธรรม: CPOT" และนิทรรศการ “5F มิติทางวัฒนธรรมสู่เวทีโลก” ก่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม โดยช่วงเดือนต.ค. 2564 – เม.ย. 2565 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,717 คน และเข้าถึงเพจเฟซบุ๊กพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส Narathiwat City Museum 18,004 คน

“วธ.ได้รับคำชื่นชมจากผู้แทนศอ.บต. ในการดำเนินงานกิจกรรมขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ในสังคมพหุวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี” นางยุพา ปลัดก.วัฒนธรรม

ทั้งกล่าวเสริมอีกว่า วธ.อยู่ระหว่างก่อสร้างพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน ภายในพิพิธภัณฑ์มีนิทรรศการวิถีชีวิต ประเพณีของชาวมุสลิม จัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอาน นำเสนอผ่าน 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และภาษายาวี ซึ่งพิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งนี้สามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา เช่น วัดคูหาภิมุข จ.ยะลา วัดปุราณประดิษฐ์ จ.ปัตตานี และเจดีย์วัดโคกคาย จ.สงขลา รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เมืองสุไหงโก-ลก ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ช่วยสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากสู่ชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน