กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยท่านมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายช่วยเหลือลูกหลานเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโควิด กลับมาสานต่ออาชีพเกษตรบ้านเกิด อยู่ใกล้พ่อแม่ มอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์  ดำเนินการโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร  มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้กลับไปถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อประกอบอาชีพการทำเกษตรได้อย่างมั่นคง มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว เนื่องจากเห็นว่าในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป จึงต้องเร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่และมีใจรักการทำเกษตรได้กลับสู่บ้านเกิดเพื่อสืบสานอาชีพดั้งเดิมของครอบครัว  โดยทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะประสานกับหน่วยงานต่างๆ เข้ามาถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรรวมทั้งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่านทางกองทุนพัฒนาสหกรณ์ โดยผ่านสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโคงการฯ 

สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ใน 23 อำเภอ มีการรับสมัครลูกหลานสมาชิกและบุคคลทั่วไป และรับสมัครสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการ 193 ราย สหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 24 สหกรณ์ กิจกรรมที่ดำเนินการ มีการจัดประชุมโครงการสร้างเครือข่ายลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน เพื่อให้ลูกหลานที่สมัครเข้าร่วมโครงการได้พบปะ แลกเปลี่ยน องค์ความรู้ระหว่างกัน มีกิจกรรมฝึกอบรมและศึกษาดูงาน โครงการสร้างเครือข่ายลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพทางการเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรต่าง ๆ ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และได้ดำเนินจัดกิจกรรมโครงการ ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตร ช่องทางการจัดจำหน่าย แหล่งเงินทุน การแปรรูปเพิ่มมูลค่าของสินค้า มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกันอีกด้วย โดยมีสถาบันเกษตรกรและหน่วยงานภาคี เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ เพื่อให้มีการวางแผนการผลิตและสร้างเครือข่ายลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีเกษตรกรที่มีผลงานเด่น ในแต่ละอำเภอ ประกอบด้วย

อำเภอสิชล นายวรายุทธ ชูสิงห์ อายุ 43  ปี 91  ม.7 ต.สี่ขีด  อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เดิมเป็นพนักงานบริษัทอยู่จังหวัดชลบุรี ได้ลาออกจากบริษัทและสมัครเข้าร่วมโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร โดยดำเนินการในลักษณะสวนเกษตรผสมผสาน พื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 10 ไร่ พืชที่ปลูก สละสุมาลี ยางพารา มีการสัตวเลี้ยง คือ เป็ด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตและจำหน่าย ได้แก่ สละลอยแก้ว ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำปุ๋ยผสมใช้เอง ซึ่งมีรายได้ต่อปีประมาณปีละ 360,000 บาท

และอำเภอท่าศาลา นางสาวภัสราวรรณ เทพทอง อายุ 47 ปี 54 ม.9  ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช  อดีตเคยทำงาน ที่กรุงเทพมหานคร บริษัท โกดิว่า จำกัด ผลิต ช็อคโกแลต ของประเทศเบลเยี่ยม และได้กลับมาบ้านเพื่อทำการเกษตร โดยการปลูกโกโก้ และทุเรียน ในสวนผลผลิตโกโก้ได้แปรรูปเป็นเมล็ดแห้ง ผงโกโก้ เนยโกโก้ ช๊อคโกเลต จำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ มีลูกค้าประจำจะเป็นยูเครน และรัสเซีย ขณะนี้ได้ขยายเครือข่ายความรู้ในการหมักเมล็ดโกโก้ เพื่อส่งผลิตเองให้ได้มีคุณภาพดีเยี่ยมที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมีรายได้ต่อปีประมาณปีละ 1,000,000 บาท

ด้าน นางสาวปรานอม จันทร์ใหม่ สหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2565 จะมีการดำเนินการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ให้ความรู้ด้านการตลาด การจัดหาสินค้า การรวบรวมผลผลิต การออม การบริหารจัดการผลผลิตการเกษตร เชื่อมั่นว่าเกษตรกรที่เข้าโครงการนี้จากนี้ไป จะสามารถยืนได้และมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยมีสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการสร้างอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง ในการสร้างงาน สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ ให้ชุมชนและที่สำคัญคือสามารถยกระดับสหกรณ์ให้เป็นที่พึ่งของสมาชิกอย่างแท้จริง