จากการวิเคราะห์ระบบอาหารที่ยั่งยืนและดัชนีความยั่งยืน 65% ของผู้บริโภคทั่วโลกมองหาผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ยั่งยืนและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เมื่อเราลองนำตัวเลขมาเปรียบเทียบดูพบว่า 60% ของผู้บริโภคต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และ 54% พยายามซื้อจากแบรนด์ที่ยืนหยัดในประเด็นทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทย 65% ของผู้บริโภคต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม มีคนไทยเพียง 35% เท่านั้นที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตอย่างยั่งยืน แต่ 65% และยินดีที่จะจ่ายเพิ่มหากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวลดการใช้พลาสติกและลดเศษอาหาร

ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล   

ทั้งนี้ นายมนตรี ตันติถาวร ผู้บริหารระดับสูง และหัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษาด้าน Consumer Business Sector บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจัยแรก ได้แก่ การตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล จะกลายเป็นแนวโน้มสำคัญเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนไป  ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู้โรคระบาด จะสนับสนุนเทรนด์ด้านการตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล   และ เทคโนโลยีครัวอัจฉริยะ จะถูกนำมาใช้ในการเชื่อมต่อเครื่องใช้ในบ้าน เช่น เตาอบหรือตู้เย็น เพื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้คนและประเมินความต้องการของตลาดเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์เฉพาะให้กับแต่ละบุคคล

ส่วน ปัจจัยที่สองคือ การส่งอาหาร โดยใช้เทคโนโลยี Digital Supply Chain จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นโดรนส่งอาหารให้กับลูกค้า ปัจจัยที่สามคือ แหล่งทางเลือก จะมีความสำคัญเนื่องจากอุปสงค์เพิ่มขึ้นในขณะที่อุปทานลดลง ดังนั้นความต้องการแหล่งอาหารทางเลือกจึงเพิ่มขึ้นไปด้วย ปัจจัยถัดมาคือการทำการเกษตรอัจฉริยะ เป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อวิเคราะห์ว่าควรให้อาหารสัตว์ชนิดใดและจำนวนเท่าใดถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้มีการนำมาใช้ให้เห็นกันแล้วในฟาร์มปลา ไก่ และหมู ในแง่ของ ขยะอาหารมีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในห่วงโซ่อุปทานดิจิทัลเพื่อคาดการณ์ความต้องการและวางแผนการจัดหาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดขยะอาหาร

สำหรับ ปัจจัยสุดท้าย คือ ระบบอาหารที่ยั่งยืนเพื่อธุรกิจอาหารที่โปร่งใส ซึ่งหมายถึงการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่การทำฟาร์มและการป้อนวัตถุดิบในการแปรรูปอาหารไปจนถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ตลาดและการติดตามแหล่งที่มาของอาหารเพื่อวัดความยั่งยืนและบรรลุเป้าหมาย SDG และ ESG แนวโน้มและเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของเราในอนาคต

 สร้างกระแสการขับเคลื่อนในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม นายมนตรี กล่าวว่า ยังมีปัจจัยขับเคลื่อนหลัก 3 ประการที่มีผลต่อการสร้างกระแสในระยะยาวในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่  1.การเติบโตของประชากร และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เพราะในขณะนี้มีประชากรประมาณ 8 พันล้านคนอาศัยอยู่บนโลก ถึงแม้ว่าต้องใช้เวลาหลายศตวรรษกว่าจำนวนประชากรโลกจะถึง 2 พันล้านคน แต่ตัวเลขดังกล่าวนั้นจะเพิ่มขึ้นถึง 10 พันล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งหมายความว่า ในระยะเวลาไม่ถึง 30 ปี ประชากรโลก จะเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งในสี่ และด้วยสาเหตุนี้ เราจึงต้องเพิ่มแหล่งอาหารที่เรามีอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

ขณะที่ปัจจัยที่ 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลกระทบของขยะที่เกิดจากอาหารมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจาก 26% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดมาจากอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นหลายส่วน 31% มาจากปศุสัตว์และการประมง 27% จากการผลิตพืชผล 24% จากการใช้ที่ดิน และ 18% มาจากห่วงโซ่อุปทาน  ทั้งนี้จะมีการใช้วิธีการกำจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการปลูกป่า และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 นอกจากนั้น การสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ปัจจัยที่สามคือความยั่งยืน ซึ่งก็คือความสมดุลระหว่างความต้องการทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจนั่นเอง คำว่าสิ่งแวดล้อมในที่นี้ไม่ใช่แค่การทำให้อุตสาหกรรมของเราปลอดคาร์บอนหรือเป็นกลางทางคาร์บอนเท่านั้น แต่มันคือการสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ที่เรามอบให้กับสังคมของเราโดยการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย