ความหมายของตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีดังนี้

อักษรพระนามาภิไธย ส.ก. อยู่ภายในกรอบรูปหัวใจพื้นสีฟ้า อักษร “ส” สีฟ้า เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ อักษร “ก” สีขาวเป็นสีเดชของวันพระราชสมภพ พื้นกรอบสีชมพูลายดอกมะลิ สีชมพูเป็นสีแห่งศรี ของวันพระราชสมภพ ดอกมะลิเป็นดอกไม้มงคลสัญลักษณ์วันแม่แห่งชาติ ด้านบนเป็นพระมหามงกุฎ ภายในประดิษฐานพระแสงจักรและพระแสงตรี สื่อถึงทรงอยู่ในพระบรมราชวงศ์จักรี ขนาบซ้าย ขวา พระมหามงกุฎ ด้วยพระสัปตปฎลเศวตฉัตร ฉัตรขาว ๗ ชั้น เป็นฉัตรประกอบพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง การนำดอกมะลิมาร้อยเรียงเป็นมาลัยลายเกลียวรูปหัวใจ รอบพระนามาภิไธย ส.ก. สื่อถึงการร้อยเรียงดวงใจอย่างกลมเกลียวน้อมเคารพสักการะพระผู้เป็นแม่ของแผ่นดิน ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจชาวไทยทั้งชาติ และผู้ทรงคุณอันประเสริฐยิ่งแก่ลูกที่เป็นประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ให้หายจากความทุกข์ยากให้มีอาชีพเลี้ยงตน รูปลายหงส์ประคองฉัตร ซ้าย ขวา หมายถึง ทรงมีพระสิริโฉมสง่างาม สูงค่าดังหงส์ ลวดลายไทย หมายถึงทรงพระปรีชาชาญยิ่งด้านศิลปวัฒนธรรม พระราชทานกำเนิดศิลปาชีพ และทรงส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติไทย ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เลขไทย ๙๐ ภายใต้ มาลัยหัวใจ หมายถึงเลขมงคลอันเป็นอภิลักขิตสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาบรรจบครบ ๙๐ พรรษา ผ้าแพรแถบสีฟ้าอักษรบอกชื่องาน พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

ด้าน นายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 กล่าวว่า นับเป็นมงคลแก่ชีวิตและวงศ์ตระกูลที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท การออกแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเคียงคู่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชจริยวัตรงดงาม พระองค์ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งของปวงชนชาวไทย นำมาสู่แรงบันดาลใจในการออกแบบตราสัญลักษณ์ ซึ่งทุกรายละเอียดมีความหมาย เป็นความภาคภูมิใจของจิตรกรไทยคนหนึ่งได้ถวายงานอย่างสุดความสามารถ ตราสัญลักษณ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นได้นำไปใช้จัดงานเฉลิมพระเกียรติต่างๆ ทั้งยังร่วมอนุรักษ์จิตรกรรมไทยโบราณผสมผสานศิลปะสมัยใหม่สู่ตราสัญลักษณ์ที่มีความร่วมสมัย ไม่ละทิ้งเอกลักษณ์ของชาติไทย