เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 14 มิ.ย. ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถนนพหลโยธิน จตุจักร กทม. ผู้เสียหายจากการเล่นแชร์วง “มะปราง” จำนวน 20 กว่าคน นำโดย น.ส.กวาง ขนิษฐา (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี เดินทางเข้าพบ พนักงานสอบสวน บก.ปอศ. แจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.วราภรณ์(สงวนนามสกุล) และ นายบัญชา(สงวนนามสกุล) สองสามีภรรยา ท้าวแชร์ ที่ตั้งวงแชร์แล้วชักชวนเพื่อนๆ คนรู้จักสมัครเป็นลูกแชร์ เมื่อท้าวแชร์ได้เงินต้นแล้ว บรรดาลูกแชร์เปียแชร์ได้แต่กลับไม่ยอมส่งเงินกองกลางให้ โดยท้าวแชร์รายนี้มีการตั้งวงแชร์หลักหมื่นถึงหลักแสนบาทหลายวง เช่น วงโดนัท จำนวน 70,000 บาท วงครัวซอง 30,000 บาท วงนกฮูก 1 แสนบาท
ผู้เสียหาย เปิดเผยว่า พวกตนรู้จัก น.ส.วราภรณ์ ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาหลายปี มีความน่าเชื่อถือในการบริหารจัดการด้านการเงินเป็นที่เชื่อถือของเพื่อนๆ เปิดเล่นแชร์ โดยรับเป็นท้าวแชร์หลายกลุ่ม ใช้ชื่อว่าแชร์ ”มะปราง”
มีการเล่นแชร์กันมานาน 4-5 ปี ไม่มีปัญหา เพิ่งมาเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา น.ส.วราภรณ์ และนายบัญชา ได้เปิดตั้งวงแชร์ใหม่ 3 วง สมาชิกรวมกัน 30 คน มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่า 3 แสนบาท ลูกแชร์ทุกรายได้ส่งเงินค่างวดแชร์ผ่านแอปฯ ธนาคารกสิกรไทย บัญชีชื่อวราภรณ์ และ บัญชีชื่อบัญชา โดยแชร์แต่ละมือแรกท้าวแชร์ได้เงินก้อนแรกไป
แต่เมื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นมือรองๆ เปียได้ นางวราภรณ์กลับไม่ส่งเงินกองกลางให้ อ้างว่าหมุนเงินไม่ทัน ปฏิเสธการจ่าย ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย จนมือสุดท้ายก็ไม่มีใครได้รับเงินทั้งต้นและดอก น่าจะมีสาเหตุมาจากการใช้เงินเกินตัวทั้งเรื่องบ้านและรถยนต์ และบริหารจัดการไม่ลงตัว ก่อนประกาศยุบวงแชร์ เมื่อ 1 มี.ค. เราไม่ไหว เดี๋ยวจะทยอยคืนเงินให้แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครได้รับ
ผู้เสียหายรายหนึ่งที่ยอดเงิน 2 ล้านบาทก็จ้างทนายฟ้องร้องเอง แต่ส่วนใหญ่จะทยอยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.บางบัวทอง และ สภ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เพื่อดำเนินคดีกับ นางวราภรณ์และสามีที่เป็นเท้าแชร์ ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2543 แต่ระยะเวลาผ่านมาร่วม 3 เดือน กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด วันนี้แต่ละคนเดือดเนื้อร้อนใจ จึงนัดรวมตัวกันมาแจ้งความ บก.ปอศ.คาดหวังว่าจะช่วยคดีได้เร็วขึ้น
ภายหลังพบพนักงานสอบสวน บก.ปอศ.ผู้เสียหายพากันผิดหวังไม่เป็นอย่างที่คิด ได้รับคำชี้แจงจากพนักงานสอบสวน ว่าวงเงินที่ผู้เสียหายรวบรวมมายังไม่ถึง 5 ล้านบาท ก่อนจะแนะนำผู้เสียหายให้เข้าไปแจ้งความออนไลน์ thaipoliceonline.com เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับท้าวแชร์แสบรายนี้ รวมทั้งจำนวนผู้เสียหาย และมูลค่าความเสียหาย เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนอีกที
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม…สาระสำคัญพระราชบัญญัติ การเล่นแชร์ พ.ศ.2543 ที่กำหนดเอาไว้ว่า หากจะเล่นแชร์ต้องทำตามเงื่อนไข ดังนี้
•ห้ามเป็นนายวงแชร์หรือท้าวแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง
•มีจำนวนสมาชิกในวงแชร์ทุกวงรวมกันไม่เกิน 30 คน
•มีเงินทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันไม่เกิน 300,000 บาท
•นายแชร์หรือท้าวแชร์ ห้ามโฆษณาเชิญชวนหรือโพสต์ข้อความชวนให้เล่นแชร์ โทษปรับหากฝ่าฝืน กฎหมายแชร์ นายวงแชร์ หรือลูกแชร์ฝ่าฝืน ซึ่งการต้องโทษคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความเสี่ยงในการเล่นแชร์ คือการที่ท้าวแชร์ไม่จ่าย หรือท้าวแชร์หนี ทำให้เงินลงทุนหาย สามารถแจ้งความได้ หากท้าวแชร์หนีไป โดยสามารถแบ่งออก ได้ดังนี้ แชร์ล้ม เปียเงินไม่ได้ ท้าวแชร์ไม่ได้หนี แต่ท้าวแชร์ไม่ได้จ่าย ด้วยเหตุผลที่ว่าหมุนเงินไม่ได้แล้ว ลูกแชร์สามารถหาทนายความเพื่อ ฟ้องร้องท้าวแชร์เพื่อขอเงินคืนได้เพราะเป็นคดีความอาญา โดยให้ลูกแชร์คนอื่นๆ เป็นพยานได้ เพราะในการเล่นแชร์ตอนแรกไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้เพราะว่าไว้ใจกัน ท้าวแชร์หนี ระวังติดคุก ท้าวแชร์หนีตั้งแต่เปียแชร์ได้มือแรก ถือว่าเข้าข่ายหลอก ลวงให้มีผู้ลงทุนจำนวนมาก แล้วนำเงินหนีไปตั้งแต่สามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่เป็นคดีอาญาฐานฉ้อโกงได้