วันที่ 14 มิ.ย.65 ที่บัญชาการตำรวจนครบาล  พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วเอก รอผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อม นายประสิทธิ์ คำเกิด รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมแถลงข่าวโครงการ “เสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร” 
 พล.ต.ต.จิรสันต์ จากข้อมูลของศูนย์ความร่วมมือป้องกันอุบัติเหตุ กทม.(ศรก.) ซึ่งเป็นความร่วมมือของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด (ที่มีการนำข้อมูลจาก ระบบ อบถ.ตร.ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ,ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ และข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน www.thairsc.com ของบริษัทกลางฯ) พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมาก โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์ คิดเป็น 86.71% อีกทั้งยังพบว่าช่วงวัยที่เสียชีวิตมากที่สุดคือวัยทำงาน โดยปี 2564 เขตที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือเขตลาดกระบัง เขตหนองจอก เขตบางขุนเทียน เขตประเวศ 
 ด้วยอุบัติเหตุทางถนนนั้น ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของคนหนึ่งคนใด หรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด หากแต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงานจะต้องมีความร่วมมือร่วมใจกันอย่างแท้จริง เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ เสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างวินัยจราจรในคนวัยทำงาน/เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน โดยการจัดการอย่างเป็นระบบ/เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการในพื้นที่เสี่ยงมีมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน และเพื่อให้พนักงานในหน่วยงาน/สถานประกอบการที่เข้าร่วมสวมหมวกนิรภัย 100% ทั้งผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ และมีวินัยจราจร” มากขึ้น 
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวอีกว่า การเสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร นั้น คือการที่“หน่วยงานหรือสถานประกอบการ” ต่างๆ ทุกภาคส่วน สามารถร่วมกันเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ป้องกันการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของพนักงานในขณะเดินทางจากบ้านมาที่ทำงานหรือจากที่ทำงานกลับบ้านได้ด้วย “มาตรการองค์กร” โดยหน่วยงานสามารถดำเนินโครงการความปลอดภัยทางถนน โดยผู้บริหารระดับสูง กำหนดเป็นนโยบายองค์กร โดยมี “กฎบัตรหรือข้อบังคับ” ที่เปรียบเสมือน “กฎหมาย” ขององค์กรหรือหน่วยงาน ในเรื่องความปลอดภัยทางถนน ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้พนักงานในองค์กรต้องยึดถือปฏิบัติ ซึ่งจะมีการกำหนดบทลงโทษ หากมีการฝ่าฝืน และการให้รางวัล หากพนักงานนั้นประพฤติปฏิบัติตนตามข้อบังคับและเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งกฎบัตรหรือข้อบังคับนี้จะเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพนักงานในองค์กร ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรและประเทศ จะทำให้พนักงานในองค์กร มีวินัย มีความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย อันเนื่องจากการใช้รถใช้ถนน รวมถึงจะเป็นการป้องกันและลดการสูญเสีย อันเป็นการแสดงถึงความรักความห่วงใยในพนักงานในที่ทำงาน อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในกรณีที่พนักงานของบริษัทประสบอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย
“อุบัติเหตุทางถนน” ถ้าทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรช่วยกันก็จะสามารถหยุดการเกิดอุบัติเหตุได้ เริ่มที่ตัวเรา ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว เพื่อลดความเสี่ยง และสำหรับผู้ใช้จักรยานยนต์ อย่าลืมสวมหมวกกันน็อก ทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย เพราะจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูง ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายต้องมีอุปกรณ์นิรภัย คือ หมวกกันน็อก ไว้ป้องการการบาดเจ็บทางศีรษะ
 สำหรับขั้นตอนการดำเนินการของโครงการจะมีการสร้างความเข้าใจกับหน่วยงาน/สถานประกอบการที่เข้าร่วมในเรื่องการขับเคลื่อนมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน / มีการสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน / มีการติดตามการขับเคลื่อนของหน่วยงานหรือสถานประกอบการ รวมถึงมีการมอบใบประกาศ“หน่วยงานเสริมสร้างมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน” ให้กับสถานประกอบการที่มีการขับเคลื่อน
ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการอบรมด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเสี่ยงด้วยทักษะการบังคับเชิงบวก ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจสายงานจราจร รวมไปถึงสถานีตำรวจพื้นที่รับผิดชอบจะมีการตั้งจุดตรวจกวดขัน ในช่วง 3 เดือนแรก โดยจะเป็นจุดตรวจปรับทัศนคติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง และหลังจากช่วงปรับทัศนคติจนสิ้นสุดโครงการ ก็จะมีการบังคับใช้กฎหมาย มีการตรวจจับปรับจริงต่อไป นอกจากนี้ในโครงการมีการจัดเก็บสถิติการสวมหมวกนิรภัยในพื้นที่เป้าหมาย จากภาพวิดีโอ/วงจรปิด/กล้องจราจร โดยใช้ซอฟต์แวร์ประมวลผล (Helmet Detection) หรือจัดเก็บข้อมูลจากการสำรวจในพื้นที่จริง เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบ วิเคราะห์ ติดตามและประเมินผลต่อไป ​​​​​​​

อุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของทุกคน มาร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โดยเริ่มจากตัวเรา ครอบครัวเรา องค์กรของเราและขยายสู่สังคมต่อไป เพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนเพื่อทุกคนเดินทางด้วยความปลอดภัย