คำว่า “เด็กซนคือเด็กฉลาด” อาจใช้ไม่ได้ในทุกกรณี ฉะนั้น ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตพัฒนาการของเจ้าตัวเล็กอยู่เสมอ เพราะพฤติกรรมบางอย่างอาจบ่งบอกถึงความไม่ปกติ โดยเฉพาะความซุกซนที่เกินขอบเขต จนไม่สามารถควบคุมได้ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคซน สมาธิสั้น”

เพื่อให้รู้เท่าทันและสามารถรับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว พญ.ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว กุมารแพทย์ที่ปรึกษา ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช ได้นำเสนอชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองผ่านบทความให้ความรู้ สำหรับการสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของบุตรหลาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เด็กสามารถเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข

“โรคซน สมาธิสั้น” (Attention Deficit Hyperactivity Disorder หรือ ADHD) เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานบกพร่องของสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรม ทำให้เด็กมีพฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่ง นั่งติดที่ไม่ได้นาน วอกแวกง่าย ขาดสมาธิจดจ่อ และทำอะไรไม่รอบคอบ ทำให้เด็กเกิดปัญหาทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน รวมถึงการเข้าสังคม และการปรับตัวเข้ากับเพื่อน

สัญญาณเตือนอาการโรคซน สมาธิสั้นในเด็ก จะมีอาการมากกว่า 1 ข้อ ดังต่อไปนี้ ซน  ต้องเคลื่อนไหวตลอด นั่งไม่ติดที่่ หรือทำอะไรเงียบๆไม่ค่อยได้ , หุนหันพลันแล่น วู่วาม รอไม่ค่อยได้ ทำอะไรไม่รอบคอบ ,ขาดสมาธิ วอกแวกง่าย เหม่อลอย ขี้ลืม ทำงานช้า หรือทำไม่เสร็จ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เด็กมีอายุ 4 ปี แต่ไม่เกิน 12 ปี ซึ่งต้องมีอาการมานานกว่า 6 เดือน และเป็นมาอย่างต่อเนื่อง โดยแสดงออกทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน จนส่งผลให้เกิดปัญหาต่อตัวเด็ก

สำหรับการรักษา โรคซน สมาธิสั้นนั้น มี 3 ข้อ คือ

1. การใช้ยาเพื่อปรับสมดุลของการทำงานของสมองส่วนหน้า เพื่อให้เด็กมีสมาธิ และควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น 2. การปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่บ้าน เช่น จัดตารางชีวิตประจำวันของเด็กให้เป็นเวลาแน่นอน บ้านมีกฎเกณฑ์และใช้วินัยเชิงบวก บรรยากาศที่บ้านมีความสงบ มีความรัก ความอบอุ่น และความเข้าใจให้กัน และ 3. การปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน เนื่องจากเด็กซน สมาธิสั้น จะมีปัญหาที่โรงเรียนด้วย คุณครูจึงต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็ก โดยการทำความเข้าใจปัญหา และให้โอกาสเด็กในการปรับตัวด้านการเรียนและการเข้าสังคม เช่น จัดเวลาเพิ่มเติมในการสอนเด็ก หรือให้เวลาเพิ่มในการทำงาน ให้เด็กนั่งด้านหน้า ไกลจากหน้าต่าง หรือประตู และใช้วินัยเชิงบวกในการสอนเด็กให้ทำตาม

ทั้งนี้หากปล่อยไว้ไม่รักษา เด็กซน สมาธิสั้น จะมีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ตามมาได้ เช่น ไม่ใส่ใจการเรียน ติดเล่นเกม หรือติดเล่นมือถือ เด็กดื้อ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง หรือมีอารมณ์กังวล ซึมเศร้า มองว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่ดี ทำให้เป็นเด็กมีปัญหา และขาดความมั่นใจในตัวเอง ถ้าสงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคซน สมาธิสั้น ควรพาลูกมาปรึกษาแพทย์เพื่อทำการซักประวัติและประเมินอาการโดยละเอียด พร้อมให้ความร่วมมือกับแพทย์และทางโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสมต่อไป