ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: “ศิลปาจารย์” บุคคลผู้อนุรักษ์และสืบสาน ต่อยอดมรดกภูมิปัญญา เป็นครูผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้อันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ หมายรวมถึง ครูศิลป์ ครูช่าง ครูภูมิปัญญาศิลป์ ปราชญ์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้มีเชี่ยวชาญในการถ่ายทอด และมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สวธ.ได้จัดให้มีโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติ “ศิลปาจารย์” บุคคลผู้อนุรักษ์และสืบสาน ต่อยอดมรดกภูมิปัญญา เป็นครูผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้อันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ หมายรวมถึง ครูศิลป์ ครูช่าง ครูภูมิปัญญาศิลป์ ปราชญ์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้มีเชี่ยวชาญในการถ่ายทอด และมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งยังเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรม มุ่งมั่นถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ชุมชนและประชาชนคนไทย ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมและแบบแผนประเพณีไทย อันเป็นเอกลักษณ์ในศาสตร์และศิลป์ของภูมิปัญญาแขนงนั้นๆ ก่อให้เกิดการอนุรักษ์คุณค่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้ต่อยอดถึงรุ่นหลังอย่างยั่งยืนสืบไป โดยรางวัล “ศิลปาจารย์” พุทธศักราช 2565 ได้แก่ จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งโรงหล่อบูรณะไทย และ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” ครูช่างผู้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ประติมากรรม “พระพุทธชินราช” จำลอง ที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามเหมือนองค์จริงมากที่สุด จนได้รับการยกย่องให้เป็น “เพชรน้ำเอกแห่งวงการช่างศิลป์”

ประวัติโดยสังเขป จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ เกิดวันที่ 9 ตุลาคม 2474 เป็นชาวจังหวัดพิษณุโลก ในวัยเด็กได้รับการถ่ายทอดวิชาการปั้นจากบิดา ซึ่งเป็นช่างปั้นของวัด เมื่อเติบโตขึ้น ท่านเข้ารับราชการทหารในตำแหน่งช่างเขียน ฝ่ายยุทธโยธา กองทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลก ระหว่างนั้นมีโอกาสฝึกงานหล่อโลหะที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และได้รับการถ่ายทอดวิชาประติมากรรมจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี  อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์สนั่น ศิลากร ซึ่งเป็นประติมากรชั้นครู ต่อมาในปี 2521 ท่านลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพช่างหล่อพระพุทธรูป ได้เริ่มบุกเบิกการปั้นหล่อองค์พระพุทธชินราชจำลองจากความทรงจำที่ได้ไปสักการะอยู่เป็นนิจ ทำให้มีชื่อเสียงอย่างมาก ได้ก่อตั้งโรงหล่อบูรณะไทย อีกผลงานที่สร้างชื่อเสียงได้แก่ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช รูปปั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลักศิลาจารึกพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

โรงหล่อบูรณะไทย นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบสัมมาชีพของท่านแล้ว ยังเป็นโรงเรียนที่ถ่ายทอดวิชาการปั้นหล่อให้กับชาวบ้านและผู้สนใจเป็นจำนวนมาก จนลูกศิษย์หลายต่อหลายรุ่นได้นำไปประกอบอาชีพหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยรายได้จากโรงหล่อบูรณะไทยยังเป็นน้ำที่หล่อเลี้ยง “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเข้าชมเพียงหลักสิบบาทต่อคน เพื่อการสร้างประโยชน์ในการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ท่านได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นปี 2526 ด้วยเจตจำนงในการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน ให้เป็นแหล่งรวบรวมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพิษณุโลก และภาคเหนือตอนล่าง บรรยายให้ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และจัดกิจกรรมเสริมความรู้นอกห้องเรียนให้แก่เด็ก นักเรียน เยาวชน ผู้สนใจทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ

ด้วยจิตวิญญาณแห่งการเป็นครูผู้ให้ ยังขยายไปสู่การจัดตั้งมูลนิธิจ่าสิบเอกทวี - พิมพ์ บูรณเขตต์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กยากไร้และขาดโอกาสทางการศึกษา โดยได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามาอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิ ปี 2525 ท่านได้ดำรงตนอยู่ได้ด้วยสัมมาชีพทางพุทธศิลป์ และนำความเชี่ยวชาญนั้นมาเป็นจุดตั้งต้นแห่งการเป็นครูและการเป็นผู้ให้กับสังคมมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานจวบจนปัจจุบัน