สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

 

เมื่อกล่าวถึงวัดอรัญญิกาวาส หรือ วัดป่า ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี บรรดาผู้สะสมและนิยมพระเครื่องต่างรู้จักกันดี ด้วยในอดีตวัดแห่งนี้เคยมี 'พระวรพรตปัญญาจารย์' หรือ 'หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท' อดีตเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) อ.เมือง จ.ชลบุรี พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของเมืองชล เป็นเจ้าอารามปกครองคณะสงฆ์แห่งนี้ รวมทั้งเป็นผู้ได้รับสืบทอดตำราการสร้างพระปิดตาทั้งเนื้อผงและเนื้อผงคลุกรักจากพระเกจิอาจารย์ดังหลายรูปของเมืองชลบุรี

หลวงปู่เฮี้ยง วัดอรัญญิกาวาส

หลวงพ่อเฮี้ยง มีนามเดิมว่า กิมเฮี้ยง นาคไพบูลย์ เกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2441 เวลา 17.45 น. ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีจอ ที่ ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี โยมบิดา ชื่อ เร่งเซ็ง เป็นคนเชื้อสายจีน โยมมารดา ชื่อ นางผัน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 7 คน เมื่อเจริญวัยอายุได้ประมาณ 9-10 ขวบ โยมมารดาได้พาไปฝากเรียนหนังสือกับพระวินัยธรเส็ง หรือ เส็ง เจ้าอาวาสวัดหนองไม้แดง (วัดราษฎร์สโมสร) อ.เมือง จ.ชลบุรี ต่อมา พระวินัยธร (เส็ง) ได้มรณภาพ จึงเลิกเรียนและกลับไปอยู่บ้านช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพตามวิสัยที่พึงกระทำได้ ครั้นอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านได้ไปสมัครเป็นตำรวจภูธร และมาปลดประจำการ โดยเป็นเพียงกองหนุนชั้นที่ 1 ขณะอายุได้ 22 ปี

เหรียญ รุ่นแรก ปี 2496  หลวงปู่เฮี้ยง วัดอรัญญิกาวาส

ในปี พ.ศ.2463 เมื่ออายุได้ 23 ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณี ณ พัทธสีมา วัดป่า (อรัญญิกาวาส) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2464 โดยมีพระเขมทัสสีชลธีสมานคุณ วัดเขาบางทราย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยธร (เภา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดชื่น ธัมมสาโร วัดป่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ปุณณัจฉันโท มีความหมายว่า ผู้มีความพอใจอันเต็มเปี่ยม ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านมีอุปนิสัยสนใจด้านวิทยาคม ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแดง (พระครูธรรมสารอภินันท์) วัดใหญ่อินทราราม จ.ชลบุรี ยอดพระเกจิอาจารย์ชาวเขมร เมืองพระตะบอง ที่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่อินทราราม ถึง 53 ปี เป็นพระเถระที่ทรงวิทยาคุณในทางสมถะ มีวาจาสิทธิ์เป็นที่เคารพยำเกรงของคณะศิษยานุศิษย์และเป็นที่เล่าขานตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

     พระปิดตา หลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า พิมพ์สะดือเล็ก        

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2467 เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส พ.ศ.2483 เป็นเจ้าคณะแขวงบางละมุง และเป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุต พ.ศ.2496 เป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยอำเภอจังหวัดชลบุรี ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2479 เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามพระครูวรพรตศีลขันธ์ พ.ศ.2498 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระวรพรตปัญญาจารย์  หลวงปู่เฮี้ยง ได้พัฒนาทั้งด้านการศึกษาและเสนาสนะให้เจริญรุ่งเรือง ท่านได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 27 พฤษภา คม 2511 เวลา 19.50 น. ณ โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา สิริอายุ 70 ปี พรรษา 47

พระปิดตา หลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า พิมพ์หกเหลี่ยมหลังตะแกรง

ในสมัยที่หลวงพ่อเฮี้ยงยังเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอยู่นั้นท่านได้สร้างพระเครื่องไว้จำนวนมากและในปีพ.ศ.2495 ท่านได้ดำริที่จะสร้างพระปิดตาขึ้น ท่านจึงได้รวบรวมพระเนื้อผงเก่าๆ ที่หักชำรุดและมีคนมาถวายไว้ อีกทั้งท่านยังได้ขอผงพุทธคุณของหลวงพ่อแก้วที่ทางวัดเครือวัลย์เก็บรักษาไว้มาบางส่วน ผงพุทธคุณของหลวงพ่อเจียม จากวัดกำแพง ผงพุทธคุณของหลวงพ่อโต จากวัดเนินสุธาวาส ผงพุทธคุณของหลวงปู่ภู่ จากวัดนอก ผงพุทธคุณเหล่านี้ทางวัดแต่ละวัดได้เก็บรักษาไว้และนำมาถวายให้หลวงพ่อเฮี้ยงนำมาผสมสร้างพระ พระปิดตาหลวงพ่อเฮี้ยงที่นิยมมากที่สุดก็เป็นพระปิดตาที่สร้างในปีพ.ศ.2495 พิมพ์ที่สร้างพระปิดตาในปีนั้น มีพิมพ์หกเหลี่ยมหลังตะแกรง พิมพ์เม็ดบัว พิมพ์สะดือเล็ก พิมพ์หลังอิติ เป็นต้น

พระปิดตา หลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า พิมพ์หลังสะดือใหญ่

นอกจากนี้หลวงพ่อเฮี้ยงก็ยังสร้างพระปิดตาและพระอื่นๆ อีกหลายแบบ และหลายปีต่อมาจนหลวงพ่อมรณภาพ พระเครื่องที่หลวงพ่อเฮี้ยงสร้างไว้นิยมทุกพิมพ์และทุกรุ่น แต่ที่นิยมมากที่สุดก็จะเป็นพระปิดตาที่สร้างในปี พ.ศ.2495 ค่านิยมสูงมาก ปัจจุบันก็หายากมากครับ

พระสังกัจจายน์ หลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า

พุทธคุณของพระปิดตาหลวงพ่อเฮี้ยงก็โดดเด่นทางด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ แคล้วคลาด พระปิดตาปี 2495 ของหลวงพ่อเฮี้ยงปัจจุบันก็มีการปลอมกันมากให้เห็นอยู่ เวลาจะเช่าหาก็ต้องพิจารณาให้ดีๆ เนื่องจากปัจจุบันสนนราคากันสูงลิบลับเลขหกหลักทีเดียวครับผม

พระปิดตา หลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า พิมพ์เศียรโต