ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

 

การเลี้ยงลูกที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างและให้เป็นธรรมชาติ

 

ธิดาวดีเป็นปลื้มกับนิธิมาก เพราะตั้งแต่ที่เธอตั้งท้อง นิธิก็เอาอกเอาใจเธอเป็นพิเศษ บางครั้งเธอก็รู้สึกหงุดหงิดรำคาญตามประสาคนแพ้ท้อง แต่ก็ดีใจว่านิธิคงจะแก้ไขอดีตที่เคยผิดพลาด กับครอบครัวเดิมของเขาที่ได้หย่าร้างกับภรรยาเก่ามานั้น รวมถึงการที่ไม่ได้ดูแลลูกสาวที่เติบโตมากับอดีตภรรยานั้นด้วย ทำให้เขาทุ่มเทกับครอบครัวใหม่กับธิดาวดีนี้ เพื่อชดเชยกับอดีตที่บกพร่องนั้น

 

วันที่คลอดลูกคนแรก ธิดาวดีเจ็บท้องคลอดตั้งแต่เช้ามืด ดีที่เธอได้ฝากครรภ์ไว้กับแพทย์ที่โรงพยาบาลมาตั้งแต่รู้ว่าท้องใหม่ ๆ นั้นแล้ว เมื่อเธอโทรศัพท์แจ้งอาการไป ทางคุณหมอก็ขอให้รอดูอาการอีกสักระยะ เพราะอาการที่จะคลอดจะต้องมีขั้นตอนเป็นไปโดยลำดับ พอสักบ่ายสามที่เธอโทรศัพท์ไปอีกครั้ง หมอก็บอกให้เธอมาคอยดูอาการที่โรงพยาบาล วันนั้นนิธิไม่ไปทำงานเพราะตื่นเต้นมาก รีบพาเธอขึ้นรถพร้อมกับข้าวของที่ธิดาวดีเตรียมไว้เพื่อไปโรงพยาบาลมาหลายวันนั้นแล้ว พอสักหกโมงเย็นคุณหมอก็มาบอกว่าให้เตรียมผ่าตัดทำคลอด เพราะธิดาวดีขอให้ทำเช่นนั้นไว้ตั้งแต่ตอนที่ฝากครรภ์เมื่อเดือนแรกๆ หลังตั้งท้องนั้นแล้ว

 

ธิดาวดีเปลี่ยนชุดเตรียมผ่าตัดเสร็จแล้วก็ขึ้นนอนรถเข็นโดยมีนิธิที่ใส่ชุดปลอดเชื้อเดินตามอยู่ไม่ห่าง เธอมองเห็นด้วยว่านิธิถือกล้องวิดีโอเข้ามาในห้องผ่าตัดด้วย และก่อนที่เธอจะหลับไปเพราะเธอขอให้คุณหมอใช้ยาสลบ เธอก็เห็นนิธิปรับตั้งกล้องลองถ่ายมุมโน้นมุมนี้อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเธอฟื้นตัวขึ้นมาก็ไม่เห็นนิธิอยู่ใกล้ ๆ เธอ ทราบจากพยาบาลที่ดูแลอาการของเธอบอกว่า นิธิอยู่กับเธอตลอดเวลาและถ่ายทำการผ่าตัดทำคลอดของคุณหมออยู่โดยตลอด จนกระทั่งคุณหมอดึงตัวเด็กออกมาตัดสะดือและตบเท้าเด็กจนเด็กร้องออกมาแล้ว คุณหมอก็ส่งให้พยาบาลอีกคนหนึ่งเอาเด็กไปทำความสะอาด ที่จะต้องเดินไปอีกห้องหนึ่ง นิธิก็เดินตามไปด้วย สักพักพยาบาลคนที่เอาเด็กไปทำความสะอาดก็เข็นรถใส่ลูกของเธอเข้ามาให้เธอได้เห็นหน้าลูก โดยมีนิธิเดินตามมาข้าง ๆ ใบหน้าของเขาดูสดชื่นแจ่มใสมาก พอธิดาวดีถามว่าไปรบกวนการทำงานของพยาบาลทำไม เขาก็ตอบด้วยใบหน้าที่ดูตลก ๆ ว่าเขากลัวคนมาขโมยลูกไป เลยต้องเดินตามดูไม่ให้คลาดสายตา

 

นิธิเอาใจใส่ดูแลลูกเป็นอย่างดีมาก ๆ เขาเอาลูกอาบน้ำและคอยป้อนนมตามเวลา โดยให้ธิดาวดีได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ธิดาวดีนั้นมีปัญหาเรื่องให้ลูกดูดนมไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีรีดนมใส่ถุงแช่ในตู้เก็บ แล้วเอาออกมาใส่ขวดให้ลูกดูดตามเวลา ซึ่งนิธิก็ตั้งใจทำอย่างขะมักเขม้น ถึงขนาดที่ลาพักร้อนเป็นสิบ ๆ วันในช่วงหลังคลอด เพื่อมาช่วยธิดาวดีดูแลลูก ที่ไม่ใช่แค่กับลูกชายที่เป็นลูกคนแรก แต่เขาก็ทำแบบเดียวกันนี้กับลูกคนที่สองที่เป็นลูกสาวซึ่งคลอดตามมาในอีก 2 ปีต่อมานั้นด้วย

 

เมื่อเด็กทั้งสองโตขึ้นเป็นลำดับ นิธิก็หันมาบ้าลูกแทนบ้างาน เขาเปิดอินเตอร์เน็ตดูวิธีการเลี้ยงลูกจากกูรูต่าง ๆ พยายามทำตามคำแนะนำไปทุกคน จนธิดาวดีต้องเตือนว่ามากหมอมากความ จะทำให้ลูก ๆ สับสนเสียเปล่า ๆ เพราะแต่ละคนก็มีแบบอย่างของตัวเอง ตัวเราเองนี่แหละที่จะสอนลูกได้ดีที่สุด เรากินอย่างไร พูดคุยกันอย่างไร ปรนนิบัติกันอย่างไร อย่างนั่นแหละที่เด็กจะเลียนแบบและทำตาม ถ้าจะให้ลูกเป็นคนใจเย็น พ่อแม่และคนในบ้านต้องพูดคุยกันเบา ๆ ไม่โวยวายใส่กัน เวลากินข้าวก็แบ่งปันกัน ช่วยกันตักช่วยกันป้อน และก็สอนกิริยามารยาทกันบนโต๊ะกินข้าวและในกิจกรรมต่าง ๆ เวลาลูกทำเลอะเทอะก็ไม่ใช้การดุเอ็ดเสียงดัง ให้ทำให้ดูและให้ลูกทำตาม เหมือนกำลังเล่นกับลูก เวลาพ่อแม่ทำอะไรก็ให้ลูกได้ทำด้วย เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ ทำกับข้าว หรือซ่อมแซมข้าวของ ให้เหมือนว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน ลูกก็จะเต็มใจที่จะทำตาม และได้นิสัยดี ๆ จากกิจกรรมเหล่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือลูกได้มีความสุขไปด้วย

 

นิธิถามว่าเธอไปได้ “บทเรียน” เหล่านี้มาจากไหน จากพ่อแม่ของเธอหรือ ธิดาวดีตอบว่า พ่อแม่ของเธอนั้นตรงกันข้ามเลย เพราะเลี้ยงลูกสามคนคือพี่ชายน้องชายและตัวเธอด้วยความเข้มงวด ด้วยวิธีแบบที่พ่อแม่นั้นทำกับคนงานและลูกจ้าง คือวางกฎกติกาต่าง ๆ มากมาย ถ้าทำผิดกฎเหล่านั้นก็จะถูกลงโทษ ซึ่งพอเธอแต่งงานและจะต้องมีลูกก็มาคิดว่า ทำไมตัวเธอกับพี่ชายและน้องชายจึงมีลักษณะนิสัยเป็นต่าง ๆ นานา ซึ่งเธอคิดว่าไม่ค่อยดีนัก เพราะจากการเลี้ยงดูของพ่อกับแม่ที่เข้มงวดเอาแต่ใจของผู้ใหญ่เข้าว่า ไม่คิดถึงความรู้สึกของคนที่เป็นลูก โดยเฉพาะลูกที่ควรจะพัฒนาไปตามวัยอย่างเหมาะสม ไม่ใช่จะเอาให้ลูกเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ตามใจผู้ใหญ่ โดยลูกก็ไม่เข้าใจและต้องจำใจทำตามเพราะถูกบังคับ ดังนั้นเด็กจึงเติบโตไปด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี แม้ว่าสิ่งที่พ่อแม่บังคับให้ทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เด็กก็รู้สึกต่อต้าน เพราะถูกแรงกระทำที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

 

เธอเอาความผิดพลาดของพ่อแม่มาเป็นบทเรียน เหมือนกับที่นิธิเคยทำผิดพลาดกับภรรยาคนเก่าและลูกสาว ซึ่งนิธิก็มีบทเรียนนั้นมาทำให้นิธิเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เธอโชคดีกว่านิธิที่เธอได้สั่งสมบทเรียนต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้ามาตั้งแต่เด็ก โดยคิดไว้มาตลอดว่าถ้าเธอมีลูกเธอจะไม่ทำอย่างที่พ่อแม่ทำ ส่วนนิธินั้นไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะตั้งรับปัญหาต่าง ๆ ในครอบครัวไว้ก่อน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ทำให้ไปไม่รอด แต่ก็ยังดีที่นิธิไม่ได้เอาความผิดพลาดนั้นมาลงโทษตัวเอง หรือทำให้ตัวของเขาเองต้อวเจ็บปวดมากขึ้นไปอีก เพราะเขาได้ใช้ข้อผิดพลาดนั้นมารักษาตัวเขา โดยผ่านครอบครัวใหม่ที่เขาพยายามเริ่มต้นใหม่ให้ดีกว่าเดิมนี่เอง

 

ถึงแม้ว่าการเลี้ยงดูภายในบ้านจะราบรื่นด้วยการประสานกันอย่างดีระหว่างเธอกับนิธิ แต่ภายนอกบ้านนั้นก็มีปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือสังคมในโรงเรียนและสภาพแวดล้อมภายในหมู่เพื่อน ๆ ของลูก ซึ่งเธอก็พยายามให้ลูกเล่าเรื่องเพื่อน ๆ ของลูกให้ฟังอยู่เป็นประจำ ถ้าเป็นไปได้ก็ในทุกค่ำที่อยู่พร้อมหน้ากันเวลารับประทานอาหาร โดยไม่พยายามคาดคั้นถามเอา ๆ แบบพิธีกรรายการโทรทัศน์ แต่จะคอยตะล่อมถามด้วยการเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่ลูกทำหรือลูกชอบ เช่น ลูกชอบการ์ตูนเรื่องไหน เธอก็ถามลูกว่ามีเพื่อนคนไหนชอบการ์ตูนเรื่องเดียวกันนี้บ้าง แล้วก็ค่อยถามเรื่องพ่อแม่ของเพื่อน จนที่สุดก็คือข้อดีข้อเสียของเพื่อน ทั้งนี้เธอก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะควบคุมลูกหรือเพื่อน ๆ ของลูกได้ทุกอย่าง แต่ก็ทำให้เธอได้เตรียมพร้อมที่จะรับกับปัญหา เช่นรู้ว่าเพื่อนของลูกพูดไม่เพราะหรือเกเร เธอก็จะบอกว่าให้ลูกลองสมมติตัวว่าเป็นพระเอกหรือนางเอกแล้วพูดกับเพื่อนให้เพราะ ๆ แบบที่พระเอกหรือนางเอกเขาพูดกัน และบอกเพื่อนว่าถ้าอยากจะเป็นพระเอกหรือนางเอกก็ต้องทำแบบนี้ เป็นการตั้งรับกับปัญหามากกว่าที่จะบอกลูกให้หลีกเลี่ยงปัญหา เพราะถึงอย่างไรเราก็ต้องเจอกับคนในหลาย ๆ รูปแบบนั้นอยู่แล้ว และเรารวมถึงลูก ๆ ของเราก็ต้องเติบโตร่วมกันไปกับคนเหล่านั้น

 

เราอาจจะเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ยาก แต่เราก็เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยการเริ่มที่ตัวเรา