ซึ่งที่ผ่านมากทม.ได้มีการเลื่อนการบังคับใช้มาแล้วถึง 3 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าหากเดินหน้าจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่กทม.จะมีรายได้ประมาณ 1 พันล้านบาท
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันกทม.ใช้งบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี ในการจัดการขยะ แต่สามารถจัดเก็บค่าขยะได้เพียง 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากหากเทียบกับค่าจัดการขยะ ดังนั้นจึงมีนโยบายทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยอัตราใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 ต.ค. 65 โดยการจัดเก็บอัตราใหม่ จาก 20 บาท เป็น 80 บาท ถือว่าเป็นจำนวนที่มาก เกรงว่าจะไปซ้ำเติมประชาชนที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ และแม้จะเก็บอัตราใหม่ก็ได้ค่าขยะไม่มาก จึงยืนยันว่าจะยังไม่เก็บค่าขยะอัตราใหม่ เพราะประชาชนลำบากในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ด้วย แต่ควรลดต้นทุนในการจัดการขยะ ที่กทม.ต้องใช้งบประมาณหมื่นล้านต่อปี มากกว่าการไปเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม โดยการรณรงค์แยกขยะ ด้วยแนวคิดขยะเป็นทองคำ โดยการเพิ่มแรงจูงใจ ในการแยกขยะ ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลและใช้ประโยชน์หรือนำไปขายได้ เชื่อว่าหากมีการคัดแยกขยะ จะสามารถลดค่าจัดการขยะที่กทม.ต้องเสียปีละ 8,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน
ด้านนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หากเก็บอัตราใหม่ กทม.จะได้ค่าขยะ 1 พันล้านบาท สำหรับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.62 และได้มีการเลื่อนการบังคับใช้จำนวน 3 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด โดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.65 อย่างไรก็ตามหากผู้บริหารจะเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียม จะต้องเสนอร่างข้อบัญญัติฉบับใหม่ โดยขอแก้ไขเพียงกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ ต่อสภากรุงเทพมหานคร พิจารณา เพื่อความเห็นชอบก่อน จึงจะประกาศเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้