บอร์ดเกลือ ลงพื้นที่นาเกลือภาคตะวันออกส่งเสริมชาวสวนผลไม้ใช้ขี้แดดนาเกลือ แก้ปัญหาปุ๋ยแพง จับมือศูนย์ AIC เร่งแปรรูปสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เกลือทะเล พร้อมมอบ GAP นาเกลือรายแรกของจันทบุรี
วันที่ 7 มิ.ย.65 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการเกลือทะเลไทย โดยมีนายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรีว่า ที่ประชุมบอร์ดเกลือรับทราบแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกลือทะเลไทย ได้แก่ 1.สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอท่าใหม่ และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้ดำเนินการพัฒนากลุ่มเกษตรกรเกลือทะเล อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตดอกเกลือและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ขัดหน้า ขัดผิว แช่ผิว แช่เท้า และสบู่ เป็นต้น รวมทั้งสร้างแบรนด์ให้กลุ่มเกษตรกรและผลิตภัณฑ์จากเกลือทะเลเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับเกษตรกรชาวนาเกลือ
2.การนำเสนองานวิจัย นวัตกรรม การดำเนินกิจกรรมทางเกลือทะเลไทย โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม AIC จังหวัดฉะเชิงเทรา รายงานผลการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเกษตรกรชาวนาเกลือทะเล ได้แก่ การสร้างรายได้เสริมให้กับชาวนาเกลือ การส่งเสริมการทำแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์ขี้แดดนาเกลือและแนวทางการส่งเสริมการตลาด การจัดการคนและข้อมูล การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบเกลือในภาคตะวันออก การบริหารจัดการเชื่อมโยงกับองค์กรภายนอก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้านเกษตรอินทรีย์ การใช้ประโยชน์ของขี้แดดนาเกลือ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการยกระดับการบริหารจัดการ
3.ผลการดำเนินกิจกรรมการทำนาเกลือทะเลภายในจังหวัดจันทบุรี และการใช้ผลผลิตเกลือทะเลในการพัฒนากิจกรรมทางการเกษตร (ไม้ผล) โดย เกษตรจังหวัดจันทบุรี รายงานว่าจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่อยู่ในตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรชาวนาเกลือได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้วทั้งหมด จำนวน 9 ราย พื้นที่ 229 ไร่ ปริมาณเกลือทะเลที่ผลิตได้เฉลี่ยประมาณ 2,589 ตัน/ปี สร้างมูลค่าได้ปีละ 9.98 ล้านบาท โดยผลผลิตเกลือทะเลที่ได้นำไปใช้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายให้กับกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ผู้บริโภคทั่วไป ผู้แปรรูป เกษตรกรผู้ทำนากุ้ง เกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้เลี้ยงปศุสัตว์สำหรับผสมอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่ายการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติ และตรวจประเมินความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ทางเกลือทะเล ให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือทะเล จำนวน 10 ราย ส่งผลให้มีเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) เป็นรายแรกของจังหวัดจันทบุรี
พร้อมกันนี้ นายอลงกรณ์ ได้มอบใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับเกษตรกรที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) รายแรกของจังหวัดจันทบุรี คือ นางสาวจันทร์เพ็ญ มากพงษ์ ด้วย
ภายหลังการประชุม นายอลงกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาคีและเกษตรกร ครั้งที่ 2/2565 ณ แปลงนาเกลือทะเลของนางสาวจันทร์เพ็ญ มากพงษ์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 22/2 ซอยป่าแดง - ยายม่อม ตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่มีพื้นที่จำนวน 40 ไร่ มีปริมาณผลผลิตเกลือ 73 ตัน/ปี ซึ่งได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) เป็นรายแรกของจังหวัดจันทบุรี และตรวจเยี่ยมแปลงไม้ผลของนายสมชาย ธัญพืช ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้มีการใช้ผลผลิตจากเกษตรกรชาวนาเกลือทะเล คือ ขี้แดดนาเกลือ นำไปปรับสภาพดินและเพิ่มคุณภาพรสชาติของผลไม้ให้ดียิ่งขึ้น เช่น มังคุด มีการใส่ขี้แดดนาเกลือเพื่อลดอาการยางไหลและเนื้อแก้วในผลมังคุด พร้อมกันนี้ ยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับฟังปัญหาอุปสรรค และให้ข้อเสนอแนะ แนวทางการแก้ไขปัญหากับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ซึ่งในการตรวจเยี่ยมฯ ครั้งนี้
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า บอร์ดเกลือเร่งส่งเสริมการแปรรูปสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เกลือทะเล และสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนไม้ผลนำวัสดุเหลือใช้จากนาเกลือคือขี้แดดนาเกลือมาใช้ปรับสภาพดินให้ร่วนซุยและเพิ่มความหวานให้กับผลไม้ในภาคตะวันออกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาปุ๋ยแพงในปัจจุบันรวมทั้งเร่งขยายผลการรับรองนาเกลือGAP เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตพร้อมกันนั้นยังส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดแหล่งพื้นที่นาเกลือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย