สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมหลังสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายผ่าน 4 เครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรนานาชาติ จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส เช่น France's Public Investment Bank (Bpifrance) องค์กรสนับสนุนสตาร์ทอัพของฝรั่งเศส “La French Tech” ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ “Station F” บริษัท สตาร์เบิร์สท และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD เพื่อยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยในหลากหลายมิติ พร้อมแสวงหาโอกาสต่อยอดการลงทุนและขยายตลาดใหม่ให้กับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีเชิงลึก ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองสำหรับการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมให้แข่งขันได้ในตลาดโลก
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า กิจกรรมด้านการเงินและการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมเป็นประเด็นหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนและผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ดังนั้น NIA จึงเริ่มแสวงหาโอกาสและการสนับสนุนรูปแบบใหม่จากหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มิติทางนวัตกรรมแต่ละด้านของประเทศไทยมีการเติบโตที่ดีขึ้น ล่าสุดได้หารือกับสาธารณรัฐฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมของโลก โดยมีความโดดเด่นในด้านการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐ การขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจที่มีความเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงเป็นประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนของสตาร์ทอัพและกลุ่มบริษัทนวัตกรรม โดยได้มีการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกับ France's Public Investment Bank (Bpifrance) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเงินและการลงุทนแก่สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการทั้งในไทยและฝรั่งเศสในการพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีเชิงลึก ภายในระยะเวลา 5 ปี ครอบคลุม 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลการเงินและการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม 2. การพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านการลงทุนร่วมกัน และ 3. การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงหรือดีพเทคซึ่งเป็นกลุ่มนวัตกรรมที่มีโอกาสในการสร้างมูลค่าสูงสำหรับประเทศไทย
“การเยือนฝรั่งเศสครั้งนี้ ยังได้ร่วมหารือกับ “La French Tech” ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพ เพื่อแลกเปลี่ยนสตาร์ทอัพในการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหารภายใต้โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบทางธุรกิจด้านอาหารระดับโลก “Space F” และได้หารือแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการบินร่วมกับบริษัทสตาร์เบิร์สท (Starburst) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่พัฒนาด้านระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการบ่มเพาะธุรกิจวิสาหกิจเริ่มต้นด้านอุตสาหกรรมการบิน อวกาศ และการทหาร เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ สร้างและรวบรวมระบบนิเวศอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ รวมถึงการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนให้กับบริษัทด้านการบินและอวกาศในการพัฒนาบริษัทและต่อยอดธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ NIA ในการส่งเสริมขีดความสามารถของสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีเชิงลึกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจอวกาศให้เกิดการลงทุนได้ในระดับโลก”
ทั้งนี้ NIA ยังได้เข้าร่วมงานประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยได้ร่วมเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ 2) การสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศ 3) การสร้างเครือข่ายการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นภายในมหาวิทยาลัย และ 4) การสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างประเทศ รวมถึงการหารือกับ OECD ถึงการส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงานของ OECD เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเสริมสร้างความสามารถของบุคลากรให้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานขององค์การระหว่างประเทศ และร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมเนื่องในปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส 2566 (TH-FR Year of Innovation 2023) ของสถานเอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศ เพื่อนำ “นวัตกรรม” ไปเป็นประเด็นหลักในการขับเคลื่อนความร่วมมือของทั้งสองประเทศต่อไป