สัปดาพระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

 

เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อหรุ่น จัดสร้างประมาณปี พ.ศ.2460 ที่ท่านสร้างเองจะมีจำนวนน้อยมาก

 

เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อหรุ่น  นับเป็นเหรียญคณาจารย์เหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยมในวงการนักนิยมสะสมเหรียญคณาจารย์อย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่าเป็น เหรียญที่มีราคาเช่าหากันสูงพอควรทีเดียวในบรรดาเหรียญคณาจารย์ด้วยกัน เนื่องด้วยพุทธาคมของหลวงพ่อหรุ่นผู้สร้างเป็นที่เลื่องลือขจรไกล โดยเฉพาะด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี

            

หลวงพ่อหรุ่น เดิมเป็นชาวตำบลเชียงราก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อราวปี พ.ศ.2390 ท่านมีความสนใจศึกษาทางด้านวิทยาคมและไสยศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อทราบว่าเกจิอาจารย์รูปใดเก่งกล้าสามารถทางด้านอาคมและไสยศาสตร์ ท่านก็จะดั้นด้นเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาหาความรู้จนเชี่ยวชาญแตกฉาน มีวิทยาอาคมเข้มขลังเป็นที่ยำเกรง

           

อีกทั้งท่านเป็นคนจริง จึงมักถูกชาวบ้านทั่วๆ ไปเรียกว่า "นักเลง" ต่อมาชื่อเสียงโด่งดังจึงขนานนามเป็น "เสือหรุ่น" หลังเข้าเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน โดยลำดับ ด้วยความดีความชอบจึงได้รับพระราชทานยศเป็นขุนกาวิจล ต่อมาท่านละทิ้งทางโลกมุ่งศึกษาทางธรรม โดยอุปสมบทที่วัดลำลูกกา ในปีพ.ศ. 2431 โดย พระญาณไตรโลก (สะอาด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งยังเป็นที่พระธรรมราชานุวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์

            

หลังอุปสมบทได้หลายพรรษา ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ท่านจึงเริ่มเดินธุดงค์ คราหนึ่งท่านธุดงค์มาปักกลดในบริเวณข้างวัดอัมพวัน ถนนนคร ไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ชาวบ้านเห็นถึงวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด และมีคาถาอาคมแก่กล้า จึงได้นิมนต์ท่านมาพำนักที่วัดอัมพวัน

           

เมื่อลูกหลานและผู้เลื่อมใสศรัทธาทราบข่าว ก็พากันไปเยี่ยมนมัสการพร้อมขอวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังจากท่านอย่างล้นหลาม เนื่องจากท่านมีวิชาอาคมด้านคงกระพันชาตรีและมหาอุดเป็นเลิศ โดยเฉพาะในด้านการ "สักยันต์" จนได้รับฉายาว่า "หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด" ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวันมาโดยตลอดจนมรณภาพในปี พ.ศ.2471 สิริอายุ 81 พรรษา 35

            

วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่ท่าน สร้างไว้แจกจ่ายลูกศิษย์ลูกหามีทั้งสิ้น 4 ชนิด คือ เหรียญปั๊มรูปเหมือนครึ่งองค์ ตะกรุดโทน กระดูกห่านลงจารขอม และแหวนขาวเก้ายอด ซึ่งทุกชิ้นที่กล่าวมานี้หาดูหาเช่าได้ยากมากๆ เพราะท่านสร้างไว้จำนวนน้อยมาก แต่ทุกชิ้นล้วนปรากฏอภินิหารศักดิ์สิทธิ์มากมายแก่ผู้บูชาครอบครอง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมสะสมกันในวงการนักนิยมสะสม เห็นจะเป็น "เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อหรุ่น"

           

เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อหรุ่น จัดสร้างประมาณปี พ.ศ.2460 ที่ท่านสร้างเองจะมีจำนวนน้อยมาก แต่จะมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งลูกศิษย์สร้างขึ้นแจกจ่ายกันเองแล้วต่างคนต่างก็นำมา ให้หลวงพ่อหรุ่นปลุกเสกอีกทีหนึ่ง ประมาณ 4,000 เหรียญ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ยกขอบโดยรอบเป็นเส้นแบน พิมพ์ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หลวงพ่อหรุ่น ที่คอปรากฏเม็ดประคำ 5 เม็ด ด้านบนสุดจารึก "ตัวอุ" ลากหางยาวไปจนจดขอบหูเชื่อม

            

ต่อลงมาเป็นอักษรขอมว่า "อะ ระ หัง" มี "ตัวอุ" ขนาบทั้ง 2 ข้าง แถวต่อมาเป็นอักษรขอมว่า "มะ อะ" ถัดลงมามี "ตัวอุ" ซ้อน 2 ตัว ขนาบอยู่ทั้ง 2 ข้าง ถัดจากตัวอุ เป็นอักษรขอมทั้ง 2 ข้างว่า "พุท ธะ สัง มิ" ล่างสุด เป็นโบลายกระหนก ภายในจารึกอักษรขอมว่า "ระ อะ ภะ" และมี "ตัวอุ" ขนาบทั้ง 2 ข้าง

           

สำหรับ พิมพ์ด้านหลัง มีด้วยกัน 2 พิมพ์ เพราะแม่พิมพ์เดิมชำรุดจึงสร้างแม่พิมพ์ด้านหลังขึ้นใหม่ พิมพ์แรก คือ "บล็อกหลังยันต์ใบพัด หรือพิมพ์บล็อกแตก" จะมีรอยบล็อกพิมพ์แตกบริเวณที่พาดลงมาตามขอบเหรียญด้านล่างด้านซ้ายของเหรียญ โดยรอบด้านของเหรียญจะเป็น "ยันต์รูปใบพัด" ทั้งใหญ่ เล็ก ตรงกลางเป็น "ยันต์นะองค์พระ" ด้านบนเป็นตัว "อุ" และมีอักขระขอมเรียงเป็นแถว ส่วนพิมพ์ที่ 2 คือ "บล็อกหลังยันต์นะองค์พระในวงกลม" พิมพ์นี้ยันต์นะฯ จะอยู่ภายในเส้นล้อมวงรูปไข่ โดยรอบจะเป็นอักขระขอม

            

ตำหนิในพิมพ์ทรงนี้จะเป็นเส้นพิมพ์แตกบริเวณด้านขวาของเหรียญ ตรงมุมล่างที่ยันต์ใบพัด พาดจากขอบเหรียญไปยังยันต์ใบพัดครับผม