ลีลาชีวิต/ ทวี สุรฤทธิกุล

 

ธิดาวดีวาดฝันว่าครอบครัวของเธอต้องเป็นยอดและเป็นแบบอย่าง “ครอบครัวคุณภาพ”

 

ธิดาวดีเจอนิธิในบริษัทบัตรเครดิตที่เธอได้เริ่มงานตั้งแต่จบจากมหาวิทยาลัยมาใหม่ ๆ อย่างที่ทุกคนในบริษัททราบกัน นิธิเป็นพ่อม่ายลูกติดและกำลังมีปัญหากับภรรยา ซึ่งทุกคนในบริษัทก็ทราบอีกว่า ภรรยาของนิธินั้นหึงหวงนิธิมาก คือเคยบุกเข้ามาถึงห้องทำงานของนิธิที่บริษัท แต่วันนั้นนิธิไปประชุมข้างนอก ภรรยาของเขาจึงได้แต่เดินไปรอบ ๆ ห้องทำงาน เพื่อสอบถามว่าผู้หญิงคนไหนที่สนิทสนมกับเขาบ้าง ซึ่งทุกคนก็ตอบว่ามีความสนิทสนมกับนิธิด้วยกันทุกคน เพราะนิธิเป็นบอสที่ต้องคอยดูแลทุก ๆ  คนในแผนกนั้นอยู่แล้ว เมื่อนิธิรู้ในเวลาต่อมาเขาก็โกรธภรรยามาก และนั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นิธิต้องหย่ากับภรรยาในเวลาต่อมา

 

แต่แรกธิดาวดีก็ไม่ได้ให้ความสนใจนิธิเท่าใดนัก นอกจากจะตั้งใจทำงานตามหน้าที่อย่างเต็มที่ ตามที่นิธิซึ่งเป็นคนสอนงานให้กับเธอ จนเมื่อวันที่ภรรยาของเขาบุกเข้ามาที่ทำงาน เธอจึงรู้ว่านิธิมีปัญหามากจริง ๆ และเธอก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกภรรยาของนิธิเข้ามาตะคอกถามถึงความสัมพันธ์ว่ามีอะไรกันเป็นพิเศษกับนิธิหรือไม่ ซึ่งเธอก็ตกใจมากและเกือบจะไปแจ้งความกับตำรวจเพื่อไม่ให้เธอต้องถูกทำร้ายด้วยความบ้าคลั่งนั้น หลังเหตุการณ์วันนั้นทำให้เธอสนใจนิธิมากขึ้น และก็รู้ว่านิธิไม่ได้นอกใจภรรยาอย่างที่ภรรยาของเขาหาเรื่อง เพียงแต่เขาเป็นคนที่มุ่งมั่นในการทำงานมากไป จนเรียกได้ว่าเป็นคนบ้างาน ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นสาเหตุของการที่ภรรยาของเขาได้มาอาละวาด เพราะเขาไม่ค่อยสนใจเรื่องครอบครัวนั่นเอง แต่ก็มีบางคนในที่ทำงานบอกว่า ตอนที่นิธิจบมาจากต่างประเทศและเข้ามาทำงานใหม่ ๆ โดยทุกคนทราบว่าเขาแต่งงานและมีลูกแล้ว แต่ก็ไม่เคยเห็นเขาบ้างานอะไรเลยในตอนนั้น บางทีเพราะมีภรรยาแบบนี้อาจจะเป็นสาเหตุให้เขาต้องบ้างาน เพื่อที่จะได้หนีออกมาจากบ้าน หรือออกมาให้ห่างจากบ้านรวมถึงภรรยาของเขานั้นด้วยให้มากที่สุด

 

นิธิไม่ค่อยบอกเรื่องราวทางบ้านให้ใคร ๆ รู้ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของธิดาวดี ทำให้เธอเที่ยวไปสอบถามใครต่อใครถึงเรื่องราวของนิธิ รวมถึงเคยแอบไปเดินดูแถวบ้านของเขาในหมู่บ้านบนที่ดินจัดสรรอันหรูหราแห่งหนึ่งด้วย ก็รู้ว่าลูกสาวของเขาน่ารักมาก โดยนิธิจ้างคนเลี้ยงมาคอยดูแล แต่ก็ทราบว่าคนเลี้ยงต้องลาออกไปแล้วหลายคน เนื่องจากทนการอาละวาดของภรรยาของนิธิไม่ได้ นิธิเคยให้ลูกสาวไปอยู่กับคุณย่า แต่ภรรยาของเขาก็ไปตามทวงเอาคืนมา ดังนั้นตอนที่เขาให้ทนายฟ้องหย่า เขาก็ขอเอาลูกมาอุปการะเลี้ยงดูด้วย ซึ่งศาลก็พิจารณาตัดสินให้เขาได้ดูแล ที่ก็คงเป็นด้วยพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้บ่งบอกถึงความน่ากลัวของภรรยาของนิธินั้นให้ผู้พิพากษาได้รู้ด้วยเช่นกัน

 

เริ่มต้นธิดาวดีก็แค่เห็นใจนิธิว่าต้องลำบากมากมายเพียงไร เธอจึงแค่อยากจะเข้าไปแนะนำเรื่องการต่อสู้กับปัญหา ซึ่งเธอก็พอรู้มาบ้างจากเรื่องในครอบครัวของเธอเอง แม้จะเป็นปัญหาที่ต่างกัน เพราะเรื่องของเธอนั้นฝ่ายผู้ชายคือพ่อของเธอเป็นฝ่ายผิด และเธอได้แต่คอยปลอบแม่ว่าให้อดทนและยอมให้อภัยพ่อ เมื่อพ่อมางอนง้อขอคืนดี ที่สุดแม้จะใช้เวลาเป็นปี แต่พ่อแม่ก็กลับมาคืนดีกัน แม้จะไม่ได้หวานชื่นรื่นรมย์ดังเก่า แต่ก็ทำให้คนทั้งสองประคับประคองอยู่ด้วยกันต่อมาอีกหลายสิบปี จนความตายมาพรากคนทั้งสองนั้นจากกันไป

 

พอนิธิหย่ากับภรรยา เขาก็ค่อย ๆ พัฒนาความสัมพันธ์กับธิดาวดีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการซื้อของกินของฝากมาให้ จนคนทั้งแผนกในบริษัทเริ่มรู้สึกว่าคนทั้งสองน่าจะมีความรักต่อกันขึ้นมาแล้ว ธิดาวดีเองก็รู้และไม่ค่อยชอบในระยะแรก ๆ แต่ก็ทนลูกตื๊อกับแรงเชียร์ของเพื่อน ๆ พี่ ๆ ในที่ทำงานไม่ได้ ในที่สุดทั้งบริษัทก็รู้ว่าทั้งคู่ตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกันแล้ว แต่เผอิญธิดาวดีได้ติดต่อมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาไว้ เพราะอยากจะไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอก เธอจึงขอที่จะไปเรียนให้จบก่อนแล้วค่อยกลับมาแต่งงาน ทั้งนี้เธอก็มีแผนการด้วยว่า ถ้าเผื่อนิธิไม่ได้มั่นคงต่อเธอจริง ระยะเวลา 4 ปีนั้นก็คงจะพิสูจน์ความจริงใจดังกล่าวได้ ซึ่งนิธิก็ไม่ได้ทำให้เธอผิดหวัง และดูเหมือนว่าจะดีเกินกว่าที่เธอคาดหวัง เพราะนิธิติดต่อพูดคุยกับเธออย่างสม่ำเสมอ ทั้งที่ตอนที่เธอไปเรียนนั้น ระบบโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตหรือพวกโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็ยังไม่มี ถ้าจะคุยกันต้องใช้ระบบโทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศเท่านั้น ซึ่งนิธิก็โทรศัพท์คุยกับเธอแทบทุกสัปดาห์ แต่ละครั้งก็นานหลายสิบนาที คิดเป็นเงินในแต่ละครั้งหลายพันบาท

 

ความจริงเธอก็เคยบอกกับเขาเหมือนกันว่า ไม่ควรเสียเงินโทรมาครั้งละมาก ๆ อย่างนั้น แต่เขาก็บอกเธอตรง ๆ ว่า เขาเคยพลาดมาครั้งหนึ่งแล้ว เขาจะไม่ทำผิดพลาดอีก ภรรยาที่เขาแยกทางมานั้นอาจจะมีอะไรที่ไม่ดีหลายอย่าง แต่เขาก็มีส่วนไม่ดีด้วย ซึ่งก็คือเขาไม่ค่อยแคร์ภรรยาเท่าไหร่นัก ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ร้าวฉานออกไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถคืนดีกันได้ นิธิบอกอีกว่าเขายังจำที่ธิดาวดีพูดถึงตอนที่พ่อแม่ของเธอคืนดีกันได้ ที่พ่อมาขอบคุณธิดาวดีแล้วพูดว่า “เวลาในอดีตที่เสียไปนั้นเราเรียกคืนมาไม่ได้ แต่เวลาในอนาคตเราสร้างไว้มอบให้กันและกันได้” และนี่เขาก็พยายามสร้างเวลาที่จะได้อยู่ด้วยกันกับเธอ ในทุก ๆ ช่วงเวลาที่สามารถทำได้

 

งานแต่งงานของธิดาวดีกับนิธิจัดขึ้นอย่างเงียบ ๆ มีแต่ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายกับญาติสนิทบางคนเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ธิดาวดีบอกกับใคร ๆ ว่า การแต่งงานนั้นความจริงคือเรื่องของคน ๒ คนเพียงเท่านั้น แต่ก็มีคนที่ไม่ได้รับเชิญมาร่วมงานแอบนินทาว่า เธอเป็นคนขี้เหนียวและไม่อยากประกาศให้ใครรู้ว่าแต่งงานกับพ่อหม้ายลูกติด และบางคนก็ถึงขั้นแต่งเรื่องว่าธิดาวดีนั้นกลัวอดีตภรรยาของนิธิมาก ถึงขนาดแอบหนีไปอยู่ด้วยกัน และนิธิก็ต้องลาออกจากบริษัท เพื่อแอบไปอยู่กินกับอดีตเด็กฝึกงานที่เขาฝึกมากับมือ

 

ความจริงนั้นนิธิได้รับเชิญจากบริษัทลงทุนทางการเงินระดับนานาชาติให้ไปเป็นรองซีอีโอ ส่วนธิดาวดีก็ต้องไปช่วยพ่อแม่บริหารบริษัทที่พ่อแม่ตั้งขึ้นมาให้ตั้งตัวให้ได้ ซึ่งทั้งสองคนก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบนั้นด้วยดี พร้อมกับที่มีโซ่ทองคล้องใจเป็นลูกชายและลูกสาวอย่างละหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีที่สุด ทั้งจากนิธิที่เคยมีบทเรียนจากความล้มเหลวในชีวิตคู่ในครั้งก่อน และจากธิดาวดีที่เธอตั้งความหวังว่าจะเป็น “แม่ที่ดีที่สุด” อย่างน้อยก็สำหรับลูกทั้งสองคนของเธอ

 

เธอมีวิธีการที่เคร่งครัดและจริงจังในการเลี้ยงลูก จนคนที่รู้จักเธอนึกสงสารลูก ๆ ของเธอ แต่กระนั้นลูก ๆ ทั้งสองคนของเธอก็ดูเป็นเด็กดีและมีความสุขมาก ๆ