นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน ระดับเขต ครั้งที่ 4/2565 ณ ศาลาว่าการกทม.(ดินแดง) มีผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขต (ศปถ.เขต.) จาก 6 กลุ่มเขต ร่วมประชุม เดินหน้าแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง และหาแนวทางป้องกัน ลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่เขต รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 

ที่ประชุมนำเสนอความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 นำเสนอแผนงานขับเคลื่อนศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับเขต ผลการดำเนินงาน แนวทางและเกณฑ์ ตัวชี้วัด “แก้ไขจุดเสี่ยง” 2565 โดยยังคงดำเนินการตามนโยบาย “1 เขต พิชิต 2 จุดเสี่ยง เลี่ยงอุบัติเหตุ” ปัจจุบันมีจุดเสี่ยงกว่า 839 จุดทั่วกรุงเทพฯ ประกอบด้วย จุดเสี่ยงตามตัวชี้วัดเดิมที่รอการแก้ไข 118 จุด และจุดเสี่ยงเพิ่มเติมจากการวบรวมของ 50 เขต อีก 721 จุด ส่วนการวิเคราะห์อุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่า กรุงเทพมหานครมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวน 13 ราย เป็นรถจักรยานยนต์ 12 ราย และรถกระบะ 1 ราย โดยมีสาเหตุหลักจากการขับรถเร็วเกินกำหนด คิดเป็นร้อยละ 61.11 หลับใน คิดเป็นร้อยละ 11.11 ที่เหลือเป็นสาเหตุอื่นๆ เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร และสภาพถนนไม่ดี จึงให้สำนักงานเขต 50 เขต สำรวจและนำเสนอแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้ประธานการประชุมได้สั่งการให้ผู้แทนทั้ง 50 สำนักงานเขต ศึกษานโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ทั้ง 9 มิติ 214 นโยบาย โดยเน้นย้ำเรื่อง ปลอดภัยดี และ เดินทางดี เพื่อเตรียมความพร้อมดำเนินการด้านความปลอดภัย

สำหรับแผนดำเนินการด้านความปลอดภัยในปี 2565 ยังคงมุ่งเน้นการรณรงค์ด้านความปลอดภัยในช่วงเทศกาลต่างๆ และสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการลดอุบัติเหตุ ในพื้นที่กรุงเทพฯทั้งหมด ที่สำคัญบูรณาการร่วมทุกภาคส่วน เป้าหมายเพื่อลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เหลือน้อยที่สุด นำไปสู่การพลิกโฉมกรุงเทพฯ เพื่อให้ทุกคนมีความปลอดภัยและความสุขในการเดินทาง ขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

ด้านนายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจร และขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า ในส่วนของทางม้าลายในพื้นที่กรุงเทพฯ สจส.ได้ติดตั้งป้านเตือนครบทุกจุด และดำเนินการติดตั้งสัญญาณจราจรเพิ่มตามแผน แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มีสาเหตุจาก คน รถ ถนน และสภาพแวดล้อม เป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องมีวินัยจราจรด้วย ทางกรุงเทพมหานครก็ดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม สัญญาณไฟป้ายเตือนให้พร้อม โดยในจุดทางข้าม(ทางม้าลาย)เดิมนั้น ได้ให้ เขตสำรวจกายภาพว่าจุดใดมีสภาพถนนเปลี่ยนไปอาจมีจุดทางเข้า-ออกขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ทางข้ามไม่ปลอดภัยเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ก็ต้องมีการทบทวนปรับเปลี่ยนจุดให้เหมาะสมให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ส่วนทางข้ามที่จะเกิดขึ้นใหม่ เมื่อมีการเสนอเรื่องขอมา จะให้ ศปถ.เขต ลงไปดูว่าเป็นจุดที่มีความต้องการจริงและต้องมีความเหมาะสมกับกายภาพพื้นที่ด้วย