วันที่ 28 พ.ค.65 ที่ จ.สระบุรี มีการโจทย์ขานกันมากว่า มีช้างมงคล (ช้างเผือก) ถูกต้องตามคุณลักษณะคชลักษณ์ (7 ประการ) ถูกนำมาพัก เลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากควาญช้าง ที่บ้านเลขที่ 50 หมู่ 3 ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อรอหมายกำหนดการนำช้างเชือกดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าถวาย พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นช้างเผือกคู่พระบารมีเชือกแรกประจำรัชกาลปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บ้านดังกล่าวเป็นบ้านพักหรูขนาดใหญ่ พบประชาชนชาว จ.สระบุรี และ ที่อื่นๆ เป็นจำนวนมาก พาครอบครัว และบุตรหลานเดินทางมาชม “ช้างเผือก” มงคลเชือกดังกล่าวที่ถูกเลี้ยง อยู่ภายในเต็นท์ผ้าใบขนาดใหญ่คล้าย(โดม) ที่ลานหน้าบ้าน โดยมีควาญช้างจำนวนหลายคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และภายในยังมีศาลที่มี ประกำช้าง ของพ่อพลายเอกชัย ไว้ให้ประชาชนที่เข้ามาชื่นชมบารมี เข้ากราบไหว้ “ตามความเชื่อตั้งแต่โบราณว่า เชือกปะกำช้าง ถือเป็นทนสิทธิ์เครื่องรางชนิดหนึ่ง ที่มีฤทธิ์ในตัวบวกกับการนำเข้าพิธีมงคล คล้องช้าง และพิธีของพราหมณ์ เพราะการคล้องช้างสมัยโบราณนั้น จะใช้หนังควายเป็นปะกำคล้องช้าง เพราะมีความเหนียวความทน วัตถุประสงค์ ก็เพื่อนำช้างนั้นมาใช้ในการออกศึก หรือ นำมาใช้ในราชพิธี และงานวัตถุประสงค์ที่จำเป็นตามคติความเชื่อ ช้างนั้นถือเป็นสัตว์มงคล มาตั้งแต่โบราณกาล จวบจนปัจจุบัน เพราะมีความเกี่ยวพัน กับวิถีการเป็นอยู่ของมนุษย์”
นางจรรยภา กาลจุลศรี อายุ 47 ปี หนึ่งในผู้ที่เข้ามาชื่นชมบารมี และความสง่างามของ พลายเอกชัย และเข้ามากราบไหว้ ศาลประกำช้าง เผยว่า ตนเองรู้สึกภูมิใจ และดีใจ ที่ได้มาชื่นชมบารมีของพ่อพลายเอกชัย ที่มีความสวย และสง่างาม ถือได้ว่าเป็นบุญที่ได้มาพบเห็น ส่วนในด้านของ ประกำ ของพ่อพลายเอกชัย ตนคิดว่าตามความเชื่อ คือ ป้องกันคุณไสย ป้องกันสิ่งชั่วร้าย ซึ่งใครที่ได้เข้ามากราบไหว้ หรือเข้ามาขอพร ก็จะมีแต่สิ่งดีๆกลับไป ตามความเชื่อ หรือถ้าในคนที่ดวงตก ถ้าได้เข้ามากราบไหว้ ลอดท้องช้าง ก็จะมีแต่สิ่งดีๆกลับเข้ามาหาตนเอง และเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง ทำให้ตนเองมีอายุที่ยืนยาว ซึ่งตนคิดว่าผู้ที่เข้ามากราบไหว้ศาลประกำ พ่อพลายเอกชัย แล้วจะมีสติ และปัญญา ซึ่งสิ่งที่ตนเองคิดว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ส่วนตัวแล้วคิดว่าเมื่อได้มากราบไหว้ขอพรแล้วรู้สึกเป็นสิ่งที่เป็นมงคลให้กับตัวเอง
ด้าน นายธนบดี พรหมสุข อายุ 38 ปี ประธานกรรมการศูนย์อนุรักษ์ช้าง บริษัทช้างทองคำประเทศไทย จำกัด (เจ้าของ) เปิดเผยว่า ประวัติของช้างดังกล่าว เป็นช้างเพศผู้ชื่อ “พ่อพลายเอกชัย” อายุ 36 ปี ได้ซื้อมาจากภาคใต้เมื่อปี พ.ศ.2552 โดยถูกนำไปเลี้ยงดูไว้ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้าง ช้างทองคำ จ.มหาสารคาม ปัจจุบัน พ่อพลายเอกชัย ได้น้อมเกล้าถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 โดยมีหัวหน้าโรงช้างต้น สำนักพระราชวัง มล. พิพัฒนฉัตร ดิศกุล พร้อมคณะ และ ควาญช้างชื่อนาย อภินันท์ ทรัพย์มาก มาแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ว่า ช้างมีคชลักษณ์ ตาม พ.ร.บ.ช้างสำคัญ หรือช้างป่าที่มีคุณลักษณะสำคัญ มาตรา 4 ที่มีคุณลักษณะสำคัญ ( 7 ประการ) สำคัญคือ (ตาขาว, เพดานขาว เล็บขาว,ขนตัวขาว,พื้นหนังขาว, ขนหางขาว,และ อัณฑโคตร์ขาว (อวัยวะเพศ) ครบทั้ง 7 ประการ ที่สำคัญท่านมี 1 รูขุมขนมีขน 2 เส้น บางรูขุมขนมี 3 เส้น ที่พิเศษยิ่งไปกว่านั้น ช้างทั่วไปจะมีรูระบายอากาศที่เพดานเหงือก 2 รู แต่ พ่อพลายเอกชัย จะมีรูระบายเพียง 1 รู นี่เป็นคุณลักษณะพิเศษ เดิมที พ่อพลายเอกชัย เป็นช้างงาน ลากไม้ ช้างทัวร์ แต่ว่าท่าน ไม่ได้ลากไม้ ไม่ทัวร์ เหมือนช้างอื่น เจ้าของเดิมประกาศขายอยู่หลายปี ท่านหลวงปู่ครูบาธรรมมุนี ผู้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างทองคำ ได้เป็นคนไปซื้อมาจากภาคใต้ ตนก็มาสานต่อโครงการตอนปี 2553 ดูแล พ่อพลายเอกชัยตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
นายธนบดี ประธานศูนย์อนุรักษ์ช้างทองคำ เปิดเผยต่ออีกว่า ตามที่ตนนำ พ่อพลายเอกชัย มาไว้ที่ ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี แห่งนี้ (บ้านญาติ) ก็เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมที่จะนำ พ่อพลายเอกชัยขึ้นทูลเกล้าฯ กระทรวงวัฒนธรรมได้ออกเอกสารไว้เรียบร้อยแล้ว ในเรื่องของการที่จะเตรียมถวายช้างให้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นช้างเผือกเชือกแรกในรัชกาลที่ 10 ซึ่ง กำลังรอวันกำหนดนัดหมาย ซึ่งก็ได้จัดเตรียมความพร้อมต่างๆไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยจะเห็นได้ว่าขณะนี้มีประชาชนที่ทราบข่าวได้พากันมาชื่นชมพระบารมี ของพ่อพลายเอกชัย ตลอดเวลา ก็ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทย ท่านใดอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง หรืออยู่ไกลก็สามารถมาได้ มาร่วมรับชม บารมีพ่อพลายเอกชัย มาถ่ายรูปร่วมกับท่าน มาให้อาหารท่าน หรือทำกิจกรรม อื่นใดๆก็ตามเพื่อเป็นสิริมงคลกับท่านได้ประจักษ์แก่สายตาว่าสง่างามสมคำร่ำลือหรือไม่ สามารถสอบถามเส้นทางได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 093-6869016 เฟชบุ๊คได้ที่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างทองคำ หรือ ติ๊กต๊อกได้ที่ พ่อพลายเอกชัย เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่ 08.00-18.30 น.