"กุ้งเคย" เป็นสัตว์น้ำของไทยที่พบได้ตามป่าชายเลนหรือชายหาด มีประโยชน์ต่อความหลากหลายของระบบนิเวศน์ เป็นทั้งอาหารให้กับลูกปลาหรือลูกกุ้ง และยังเป็นผู้ล่าอาหารแพลงก์ตอนกับสัตว์ขนาดที่มีขนาดเล็กกว่า เป็นสัตว์ที่อยู่ตรงกลางของห่วงโซ่อาหาร เป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างสัตว์ขนาดเล็กไปสู่สัตว์ขนาดใหญ่ หากมีกุ้งเคยหลากหลายชนิดในบริเวณเดียวกันจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นทางระบบนิเวศน์สูงขึ้น สามารถปรับตัวได้ดีเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่นั้น ๆ และยังถือเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่สามารถนำมาเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวิสาหกิจชุมชนได้อีกด้วย
จึงเป็นที่มาให้ ผศ.ดร.เตือนตา ร่าหมาน อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เริ่มโครงการวิจัยเรื่อง "ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของการใช้ประโยชน์จากกุ้งเคยในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย" โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
ผศ.ดร.เตือนตา เล่าว่า งานวิจัยเกี่ยวกับกุ้งเคยในประเทศไทยปัจจุบันมีน้อยมาก ซึ่งผลงานล่าสุดน่าจะประมาณปี 2547-2548 ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อสัตว์ประเภทนี้ทำให้มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงนำมาสู่การวิจัยเพื่อดูความหลากหลายทางชีวภาพต่าง ๆ ในน่านน้ำไทย และยังได้วิจัยด้วยว่า กุ้งเคยสามารถนำมาทำประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็พบว่า สามารถนำมาทำ "กะปิ" ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ในทางกลับกันพบว่าสวนทางกับปริมาณกุ้งเคยที่ลดลง และวิสาหกิจชุมชนบางแห่งนำเข้ากุ้งเคยจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาทำเป็นกะปิ ดังนั้นจึงได้เริ่มต้นวิจัยเพื่อปรับกระบวนการผลิตให้โดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นเข้ามาช่วย ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น และทำให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่เหล่านั้นด้วย
และจากการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ลงพื้นที่ทั้งหมด 4 แห่งได้แก่ 1.ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง 2.บ้านนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 3.บ้านบากันเคย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล และ 4.ชุมชนบ้านมดตะนอย อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งผลการศึกษาพบว่า แต่ละพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ต่างกัน พบชนิดของกุ้งเคยที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากความเค็มของน้ำไม่เท่ากัน แต่พื้นที่ที่พบความหลากหลายทางชีววิทยาของกุ้งเคยมากที่สุด คือที่บ้านบากันเคย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เนื่องจากเป็นป่าชายเลนที่อยู่ปากอ่าว มี ระบบนิเวศน์ระดับย่อยจำนวนมาก มีค่าความเค็มของน้ำที่หลากหลาย ตั้งแต่น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย จึงมีกุ้งเคยที่หลากหลายชนิด สะท้อนถึงความยืดหยุ่นของระบบนิเวศน์
ผศ.ดร.เตือนตา กล่าวอีกว่า หลังจากนั้น ได้ต่อยอดการพัฒนางานวิจัย นำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นกะปิ โดยลงพื้นที่บ้านนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงอย่างมาก และชาวบ้านต้องการฟื้นฟูวิถีชีวิตภูมิปัญญาการทำกะปิแบบเดิมกลับคืนมา ผสมผสานวิธีการผลิตให้มีความสะอาดถูกสุขลักษณะมากขึ้น เช่น การยกพื้นตากแห้งกุ้งเคยสูงขึ้นมาจากเดิมประมาณ 1 เมตร หันมาใช้ครกไม้แทนเครื่องบด เพื่อให้เนื้อสัมผัสของกะปิบ้านทับมีความแตกต่างจากที่อื่น และเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์กะปิได้มากขึ้น ซึ่งก็ได้มีส่วนช่วยเหลือในการหาตลาดใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์นี้และสามารถขายได้ มีรายได้ที่สูงมากขึ้น
"เราได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ในการนำครกไม้มาใช้เพื่อบดทำเป็นกะปิกุ้งเคย ซึ่งชาวบ้านเองก็ได้เห็นถึงประโยชน์นี้ แม้ว่าจะใช้เวลากับแรงงานที่มากขึ้น แต่หากสามารถสร้างรายได้ที่มากกว่าเดิมก็ถือว่าคุ้มค่า"
กระบวนการทำกะปิถือเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมมีมาก่อนอยู่แล้วทำให้ชาวบ้านไม่ต้องปรับตัวมาก แต่สิ่งที่ได้รับคือรายได้ที่สูงขึ้นจากการขายกะปิ มีอาชีพ ประกอบกับสร้างเสริมให้เกิดกิจกรรมใหม่ในชุมชนคือ "การประมงอย่างมีความรับผิดชอบ" มากขึ้น ช่วยสร้างความยั่งยืนทางระบบนิเวศน์และชุมชนได้ ต่อยอดกิจกรรมก้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆได้
"งานวิจัยนี้ถือเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ได้เราเริ่มศึกษาตัวสัตว์น้ำอย่างกุ้งเคย แล้วเราก็ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของงาน เราจะได้ประโยชน์สองทาง ทางหนึ่งคือการให้ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ อีกทางหนึ่งคือการทำงานร่วมกันกับชาวบ้านในท้องถิ่น คนกลุ่มนี้ต่อไปก็จะเป็นฟันเฟืองที่จะช่วยอนุรักษ์ หรือใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลไทยให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น เราเป็นนักวิชาการนานๆทีจะเข้าไปครั้งหนึ่ง แต่ชาวบ้านต้องใช้ทรัพยากรอยู่เป็นประจำ ถ้าเมื่อไหร่ทำให้ชาวบ้านให้เห็นถึงความสำคัญของการกระทำของเขาที่มีต่อทะเล เขาก็จะมองเห็นถึงจุดที่ดีของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และจะทำให้มีความยั่งยืนมากขึ้นตามไปด้วย" ผศ.เตือนตากล่าวทิ้งท้าย