วันที่ 26 พ.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 532,571 คน ตายเพิ่ม 1,265 คน รวมแล้วติดไปรวม 529,430,127 คน เสียชีวิตรวม 6,305,358 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 74.57 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 66.4
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 52.45 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 15.33
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 17.01% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
...คนที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดติดเชื้อโควิดขึ้นมานั้นเสี่ยง Long COVID แค่ไหน?
ล่าสุด งานวิจัยขนาดใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสากล Nature Medicine เมื่อวานนี้ 25 พฤษภาคม 2565
ศึกษาในประชากรที่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน แล้วเกิดติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนถึง 33,940 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 2.56 ล้านคน และกลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีนและไม่ได้ติดเชื้ออีก 10.7 ล้านคน
ประเมินดูอัตราการเกิดภาวะ Long COVID รวมถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพอื่นๆ ณ 6 เดือนหลังจากเกิดการติดเชื้อ
สาระสำคัญที่พบคือ
1. การฉีดวัคซีนนั้นลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID ได้ 15%
ทั้งนี้ผลที่ค้นพบจากการศึกษาขนาดใหญ่ครั้งนี้ ถือว่าน้อยกว่าที่การศึกษาอื่นในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก เพราะการศึกษาก่อนๆ เคยประเมินว่าลดความเสี่ยงได้ราว 41% ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน โดยวัคซีน mRNA จะสามารถลดความเสี่ยงได้มากกว่าวัคซีนประเภท viral vector
2. การฉีดวัคซีนนั้นจะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ราว 34% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
3. แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่หากติดเชื้อขึ้นมา ก็ยังทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ณ 6 เดือน สูงกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ 1.75 เท่า และทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายจาก Long COVID สูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ 1.5 เท่า
...ผลการศึกษานี้ สะท้อนให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัว แม้ฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ช่วยลดความเสี่ยงของ Long COVID ได้ไม่มากนัก การใส่หน้ากากอย่างสม่ำเสมอยังเป็นเรื่องจำเป็น
Health consciousness หรือความใส่ใจต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยประคับประคองให้เราอยู่รอดในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ไม่ควรหลงตามกิเลส ใช้สติและปัญญาในการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัว
อ้างอิง
Al-Aly, Z., Bowe, B. & Xie, Y. Long COVID after breakthrough SARS-CoV-2 infection. Nat Med. 25 May 2022.