ปัด15กรรมการบริหารลาออกเกมการเมือง ศท.ย้ำจุดยืน ร่วมรัฐบาล -เฮ้งล็อบบี้พรรคเล็ก -โหวตผ่านงบ-ซักฟอก -พท.กดดันชัชชาติ "หมอชลน่าน" ชี้พ.ร.บ.งบฯ 66 ไม่ผ่าน "บิ๊กตู่" ต้องลาออก-ยุบสภา บุญสิงห์ ย้ำจุดยืนเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ยัน 15 กก.บห. ลาออกไม่ใช่เกมการเมือง แย้ม ผู้กองมนัส มีโอกาสผงาดนั่งหัวหน้าพรรคแทน"บิ๊กน้อย" ลั่นไม่หวนกลับพปชร. "พีระวิทย์" เผยพรรคเล็กเตรียมยกก๊วนซบ"เศรษฐกิจไทย" ขณะที่รัฐบาลล็อบบี้พรรคเล็กห้ามตีจาก ส่วน กทม.ส่อเค้าวุ่น! เพื่อไทยจับมือก้าวไกลเปิดเกมต่อรองชัชชาติจัดสรรเก้าอี้ ปธ.สภากทม.-รองผู้ว่าฯ ฝุ่นตลบ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 25 พ.ค.65 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 ว่า เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่พรรคฝ่ายค้านสนใจว่าผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไร เพราะร่างพ.ร.บ.งบฯ เป็นกฎหมายสำคัญ ถ้าสภาไม่ให้ผ่านจะส่งผลต่อตัวนายกฯ และรัฐบาล ซึ่งมีทางเลือก 2 ทาง คือไม่ยุบสภาก็ต้องลาออก ส่วนจะมีเงื่อนไขนั้นหรือไม่เป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้มาโดยตลอดว่าสภาจะอนุญาตให้นายกฯ บริหารงบประมาณปี 66 หรือไม่ ส่วนพรรครวมฝ่ายค้านได้ดูเนื้อหาสาระของแผนงานงบประมาณ ซึ่งมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อถามว่า หากร่างพ.ร.บ.งบฯ ไม่ผ่านสภาจะกระทบกับประชาชนหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า บทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าแม้ร่างพ.ร.บ.งบฯ จะไม่ผ่าน ก็สามารถใช้งบประมาณเดิม คือ พ.ร.บ.งบฯ 65 ไปพลางก่อน เว้นแต่เป็นเรื่องงบลงทุนที่จะสร้างใหม่ ดังนั้น แผนงานโครงการต่างๆที่เป็นเรื่องประจำก็สามารถทำได้ต่อ แต่ไม่อนุญาตให้เอาไปลงทุนในสิ่งที่เห็นว่าไม่ชอบ ถ้าหากปล่อยไปอาจจะกระทบต่อพี่น้องประชาชนมากกว่า นี่เป็นทางเลือกที่จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะการไม่ให้ผ่านอาจจะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่า แล้วปล่อยให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาจัดสรรงบประมาณแทน เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหาภายในพรรค จะมีการดึงเข้ามาเป็นแนวร่วมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มองว่าปัญหาภายในพรรคเป็นมิติทางการเมือง ส่วนสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นเพราะอะไร ประชาชนคงต้องติดตามว่าทำไมถึงไปด้วยกันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสมมติฐานที่ตนตั้งขึ้นว่าเกิดจากการสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้หรือสนับสนุนนายกฯคนนี้ ก็ต้องมาดูว่าสิ่งที่พรรคดังกล่าวแสดงจุดยืนออกมา จะมาในทิศทางการเมืองที่ฝ่ายค้านมุ่งหวังหรือไม่อย่างไร แต่ถ้ามีความชัดเจนในตัวเองที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล จะไม่เป็นฝ่ายค้านก็ได้ จะเป็นฝ่ายที่ต้องการตรวจสอบรัฐบาล หรือฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจ หรือไม่อนุญาตให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อ จะเรียกว่าอะไรก็ได้ ด้าน นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจไทย และอดีตนายทะเบียนพรรคเศรษฐกิจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความขัดแย้งภายในพรรคเศรษฐกิจไทย ว่า พรรคมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกันภายใน ที่มองว่าเป็นปัญหาค่อนข้างรุนแรงระหว่าง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรค และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะอดีตเลขาธิการพรรค เมื่ออดีตกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ทราบเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้หารือร่วมกันว่าหากปล่อยให้เกิดความขัดแย่งส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ใหญ่ของพรรคเนิ่นนานไปจะทำให้พรรคเสียหาย และบอบช้ำ จึงเป็นที่มาที่อดีตกก.บห. 15 คน จาก 22 คน ยื่นหนังสื่อลาออก เพื่อให้สถานะของกก.บห.ทั้งหมดสิ้นสภาพลงตามข้อบังคับพรรค จากนั้นทางพรรคจะต้องจัดประชุมใหญ่ภายใน 45 วัน เพื่อเลือกกก.บห.ชุดใหม่ นายบุญสิงห์ กล่าวว่า สาเหตุที่ตัดสินใจแบบนี้เนื่องจากเราเคยมีประสบการณ์ช่วงที่อยู่พรรคพลังประชารัฐที่เกิดความขัดแย้ง และมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ปล่อยเวลามาเนิ่นนานจนมีความรุนแรงมากขึ้น หากปล่อยแบบนั้นจะเดินต่อไปลำบาก จนสุดท้ายทำให้เกิดการขับสมาชิกพรรค ดังนั้นเราจึงไม่อยากให้สภาพปัญหาเกิดขึ้นที่พรรคเศรษฐกิจไทยอีก จึงร่วมกันตัดสินใจลาออกจากการเป็นกก.บห. เพื่อให้กก.บห.ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า และเลขาธิการพรรคสิ้นสภาพทั้งหมด เพื่อมานั่งคุยกัน และพรรคเศรษฐกิจไทยจะได้จัดกก.บห.ชุดใหม่ โดยคำนึงถึงปัญหาของพรรคว่าจะต้องรีบแก้ไข เพราะเรามุ่งเน้นให้พรรคเข้มแข็ง และเป็นสถาบันทางการเมือง ด้วยการจัดระบบภายในพรรคใหม่ให้เข้มแข็งมากกว่าเดิม เมื่อถามว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากพล.อ.วิชญ์และร.อ.ธรรมนัส ใช่หรือไม่ นายบุญสิงห์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่พรรคเศรษฐกิจไทยจัดประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ซึ่งทุกคนได้พบกันหมด จากนั้นส.ส.ของพรรคก็ลงพื้นที่ตลอด จนมาทราบความขัดแย้งจริงๆ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ถ้ามีโอกาสตนก็อยากบอกอดีตหัวหน้าพรรค และอดีตเลขาธิการพรรคเหมือนกันว่าให้คุยปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค เพราะเรามีระบบบริหารพรรคอยู่ ไม่อยากให้ความเห็นไม่ตรงกันออกไปข้างนอก เพื่อหารือภายในและหาแนวทางเดินไปข้างหน้าร่วมกัน เมื่อถามว่า อดีตกก.บห. 15 คน ที่ลาออกได้พูดคุยกับร.อ.ธรรมนัสก่อนหรือไม่ นายบุญสิงห์ ตอบว่า ไม่ได้คุยทั้งอดีตหัวหน้าและอดีตเลขาธิการพรรค เพราะเป็นการตัดสินใจกันเองของพวกเรา 15 คน เนื่องจากเรามีประสบการณ์เคยพบปัญหานี้มาก่อน ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวความเห็นที่ไม่ตรงกันคือเรื่องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ใช่หรือไม่ นายบุญสิงห์ กล่าวว่า พรรคเศรษฐกิจไทยได้แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าเรายังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีส.ส. 18 คน เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี และยังสนับสนุนในสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประชาชน เพื่อขับเคลื่อนบ้านเมืองให้เดินไปข้างหน้าได้เช่นกรณีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 66 ถือเป็นเรื่องใหญ่ และประชาชนได้ประโยชน์ แม้ว่างบประมาณบางส่วนเป็นงบฟุ่มเฟือย หรือไม่คุ้มค่า ก็ค่อยมาแก้ไข หรือตัดในขั้นตอบการแปรญัตติได้ เมื่อถามว่า เหตุใดอดีตกก.บห.ทั้ง 15 คน ไม่รอให้พล.อ.วิชญ์และร.อ.ธรรมนัสพูดคุยกันก่อน ก่อนตัดสินใจลาออกเหมือนกับเป็นเกมปลดพล.อ.วิชญ์ นายบุญสิงห์ กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเกม แต่เป็นกลไกของพรรค เมื่อถามว่า หมายความว่าอดีตหัวหน้าพรรคนำปัญหาของพรรคออกไปพูดข้างนอกก่อนจึงตัดสินใจวิธีนี้ใช่หรือไม่ นายบุญสิงห์ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งทุกพรรคการเมืองมีระบบพรรคอยู่ ตนไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมจึงนำปัญหาความขัดแย้งออกไปข้างนอกจนเกิดผลกระทบต่อพรรค เมื่อถามว่า ใครเหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ นายบุญสิงห์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้มอง ซึ่งพล.อ.วิชญ์อาจจะตัดสินใจอยู่กับพรรคต่อไปก็ได้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการประชุมใหญ่ของพรรค ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าร.อ.ธรรมนัสจะนั่งเป็นหัวหน้าพรรคเองนั้น ตนยังไม่ได้สอบถาม และวันนี้ก็จะถามเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วระหว่างอดีตหัวหน้าพรรคและอดีตเลขาธิการพรรคมีความขัดแย้งอะไรรุนแรงจนถึงขั้นต้องนำเรื่องออกไปข้างนอก และไม่สามารถคุยกันในพรรคได้ เมื่อถามย้ำว่า มีโอกาสที่ร.อ.ธรรมนัสจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือไม่ นายบุญสิงห์ กล่าวว่า ก็มีโอกาส แต่อาจจะเป็นพล.อ.วิชญ์หรือจะเป็นร.อ.ธรรมนัสก็ได้ หรือเป็นคนอื่นก็ได้ ซึ่งก็มีโอกาสทั้งนั้น แต่จะเป็นใครก็ตามขอให้นำพาพรรคให้เข้มแข็ง ก็ช่วยกันแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน และตามเจตนารมณ์ของพรรค ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะดึงส.ส.กลับเข้าพรรคพปชร. นายบุญสิงห์ กล่าวว่า ยืนยันว่าจะขับเคลื่อนพรรคเศรษฐกิจไทยต่อไป และไม่กลับไปพรรคพลังประชารัฐ เมื่อถามว่า พรรคเศรษฐกิจไทยจะขัดแย้งจนถึงขั้นพรรคแตกหรือไม่ นายบุญสิงห์ ตอบว่า ยืนยันว่าไม่แตก และวันนี้เรามีสมาชิกพรรค 2 หมื่นกว่าคน ยืนยันว่าพร้อมทำงานเพื่อบ้านเมือง และสร้างความเข้มแข็งให้พรรคมากกว่าเดิม ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะยิ่งสร้างพรรคให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ด้าน นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม กล่าวว่า ในวันที่ 26 หรือ 27พ.ค. กลุ่มพรรคเล็กประมาณ 20 คน จะนัดรับประทานอาหารกับร.อ.ธรรมนัสเพื่อกำหนดทิศทางการเมือง หลังจากที่ร.อ.ธรรมนัสเดินทางกลับจากประเทศสิงคโปร์แล้ว จะหารือทั้งสถานการณ์การเมือง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทิศทางการเมืองของพรรคเล็ก หลังจากนี้เป็นไปได้ที่พรรคเล็กอาจไปรวมพรรคอื่น จุดหลักอาจเป็นพรรคของร.อ.ธรรมนัส เพราะมีความสนิทสนมกัน ก่อนหน้านี้พรรคเล็กได้รับการทาบทามให้ไปอยู่กับร.อ.ธรรมนัสมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ถือเป็นเอกสิทธิแต่ละพรรคในการตัดสินใจ ในส่วนพรรคไทรักธรรมคงต้องพิจารณาหลายปัจจัย โดยเฉพาะการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้ใช้ 100 หาร แต่อาจพลิกไปใช้ 500 หารได้ หากเป็น 100 คนหาร ต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่ นายพีระวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทราบดีว่า บรรดาบิ๊กๆ ชิงดีชิงเด่นเรื่องหาร 100 หาร 500 เหมือนกัน สงครามยังไม่จบ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ส่วนการไปรับประทานอาหารกับพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 23พ.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ พรรคเพื่อไทยให้ข้อมูลว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ มี 4 ประเด็น ซึ่งพรรคเล็กมีข้อมูลระดับหนึ่ง จึงต้องคุยกันว่าจะพิจารณาอย่างไรในการร่วมอภิปรายหรือไม่ ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า หลังจากมีข่าวร.อ.ธรรมนัสจะนัดพรรคเล็กรับประทานอาหารเพื่อหารือสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ปรากฏว่าในช่วงสายๆ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะผอ.พรรคพลังประชารัฐ ที่มีหน้าที่ประสานงานกับพรรคเล็ก ได้นัดพูดคุยทำความเข้าใจกับส.ส.กลุ่ม16 อาทิ นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม16 ,นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม, นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังไทยรักไทย ,นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่, นายดำรง พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และนายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจและขอความร่วมมือกับกลุ่ม16 ในการช่วยรักษาองค์ประชุมสภา การลงมติให้ความเห็นชอบในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 66 วาระ1 ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-2มิ.ย.65 และการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ขอให้ช่วยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เพราะเกรงว่าส.ส.กลุ่ม16จะไปอยู่ร่วมกับร.อ.ธรรมนัส นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม16 กล่าวว่า นายสุชาติมาพูดคุยขอความร่วมมือจากกลุ่ม16จริง ขอให้ช่วยทั้งการเป็นองค์ประชุมสภา การโหวตสนับสนุนร่างพ.ร.บ.งบฯ66 การโหวตสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขอให้อยู่ฝ่ายรัฐบาล เพราะเป็นการทำงานปีสุดท้ายอยากให้ร่วมมือกันทำงาน กลุ่ม16 ได้เล่าถึงปัญหาวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่หารด้วย100 ที่ทำให้พรรคเล็กประสบปัญหา ซึ่งนายสุชาติก็รับฟัง การขอความร่วมมือของนายสุชาตินั้น กลุ่ม16ก็รับฟังไว้ แต่ไม่ได้รับปาก เพราะต้องไปหารือกันในกลุ่มถึงทิศทางการทำงานและลงมติที่จะไปทางเดียวกันก่อน ยังตอบไม่ได้จะโหวตให้หรือไม่ ส่วนกระแสข่าวพรรคเล็กจะไปอยู่ร่วมกับพรรคเศรษฐกิจไทยของร.อ.ธรรมนัสนั้น ยังไม่มีความชัดเจน ขอรอดูวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อก่อน จะหารด้วย100 หรือ500 ขณะนี้ยังไม่แน่จะใช้การหารด้วย100 ตามวิธีที่กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเสนอมา สุดท้ายแล้วการลงมติวาระ2-3 อาจพลิกเป็นหารด้วย500ได้ เพราะฝ่ายรัฐบาลเองก็กลัวจะเกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ หากใช้วิธีหารด้วย100 ต้องรอให้มีความชัดเจนวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อก่อน พรรคเล็กจึงจะมีแนวทางชัดเจนออกมา วันเดียวกัน มีรายงานความเคลื่อนไหวของการจัดสรรตำแหน่งในสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) และเก้าอี้รองผู้ว่าฯกทม. ภายหลังจากที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯกทม. เตรียมเข้ามาทำหน้าที่ และรอการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โดยในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่วันนี้มีส.ก.ในมือ 20 ที่นั่ง ได้เคยยื่นข้อเสนอให้คนของพรรคเข้ามานั่งในตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. 2 ราย คือ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้อำนวยการเลือกตั้งส.ก. ในฐานะประธานกทม. พรรคเพื่อไทย กับ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกทม. พรรคเพื่อไทย แต่ถูกนายชัชชาติปฏิเสธ โดยเฉพาะในส่วนของนายวิชาญนั้น เคยมีปัญหาความขัดแย้งกับนายชัชชาติมาก่อน เมื่อตอนที่ยังเป็นรมว.คมนาคม ทั้งนี้นายชัชชาติแจ้งว่าหากพรรคเพื่อไทยจะเสนอใครเข้ามาก็จะขอเป็นคนเลือกเอง ต่อมา พรรคเพื่อไทยยื่นข้อเสนอใหม่ว่า หากจะไม่ให้ตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. พรรคขอตำแหน่งประธานสภากทม. แทน แต่ปรากฏว่าได้เกิดปัญหาภายในพรรคเพื่อไทยรอบใหม่เมื่อแต่ละกลุ่มการเมืองในพรรคต่างเสนอส.ก.ในสังกัดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนายวิชาญที่เสนอ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.มีนบุรี ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ นายเนาวรัตน์ อยู่บำรุง ส.ก.หนองแขม ซึ่งเป็นน้องขายตัวเองขึ้นมาชิงเช่นกัน นอกจากนี้ พบว่า นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ซึ่งเคยอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคเพื่อไทยไปดึงตัวมา โดยรับปากว่าจะให้เก้าอี้ประธานสภาฯ จึงทำให้นายสุทธิชัยทวงสัญญาจากแกนนำพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้เวลานี้เกิดเป็นศึกสามเส้ากันเองภายในพรรคเพื่อไทย ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากภายนอก เมื่อพรรคก้าวไกลที่ได้ส.ก.เข้ามา 14 เสียง มีข้อเสนอขอตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. 1 เก้าอี้ แต่นายชัชชาติไม่ยินยอม ทำให้พรรคก้าวไกลส่งสัญญาณว่าจะไปจับมือกับส.ก.ของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีส.ก. 9 ที่นั่ง กับกลุ่มรักษ์กรุงเทพที่มีส.ก.3 ที่นั่ง รวมแล้วจะได้ 26 ส.ก.จากนั้นจะยึดสภากทม. แล้วจัดสรรเก้าอี้ทั้งในส่วนของประธานสภากทม.กับรองประธานสภากทม.