อีสานโพลเผย คนอีสานพร้อมเลือกตั้งภายในไม่เกิน 5 ปี ชูขอนแก่นเป็นจังหวัดนำร่อง ตามแผนการกระจายอำนาจการบริหารสู่ระดับพื้นที่ พร้อมหนุนชัชชาติ เป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ รองลงมาคือ "วิโรจน์" จากพรรคก้าวไกล วันที่ 25 พ.ค.2565 เวลา 10.00 น. รศ. ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของคนอีสาน ตามแผนการสำรวจเรื่อง คนอีสานกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผลสำรวจพบว่า คนอีสานเกือบครึ่งอยากเห็นการกระจายอำนาจบริหารและงบประมาณให้จังหวัดและท้องถิ่นมากขึ้น โดยระบุว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าจังหวัดในภาคอีสานพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช่นเดียวกับ กรุงเทพฯ ภายใน 1-5 ปี มีเพียงส่วนน้อยที่เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีข้อเสียมากกว่าข้อดี พร้อมทั้งชูขอนแก่นเป็นจังหวัดนำร่องในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช่นเดียวกับ กรุงเทพฯ และกว่าครึ่งเห็นว่า รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ เหมาะสมเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มากที่สุด รศ. ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่าการสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานกับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,100 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด โดยจากการสอบถามถึงความคิดเห็นว่ารัฐบาลได้กระจายอำนาจการบริหารและงบประมาณให้จังหวัดและท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด พบว่า กลุ่มที่เห็นว่ากระจายอำนาจน้อยเกินไปมีร้อยละ 47.4 ซึ่งใกล้เคียงกลุ่มที่เห็นว่ากระจายอำนาจในระดับที่เหมาะสมมีร้อยละ 47.2 ขณะที่ ร้อยละ 5.4 เห็นว่ากระจายอำนาจมากเกินไป ขณะที่ความพึงพอใจกับการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดคนปัจจุบันของท่านหรือไม่อย่างไร พบว่าความพึงพอใจค่อนไปฝั่งเฉยๆ ถึงรู้สึกดี และคิดเป็นคะแนนเฉลี่ยได้ 3.15 จากสเกล 5 ระดับ เมื่อสอบถามต่อว่า พึงพอใจกับการบริหารงานขององค์การบริหารงานส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ของท่านหรือไม่อย่างไร พบว่าความพึงพอใจค่อนไปฝั่งเฉยๆ ถึงรู้สึกดี และคิดเป็นคะแนนเฉลี่ยได้ 3.28 จากสเกล 5 ระดับ และเมื่อสอบถามว่า หากจังหวัดของท่านได้รับการกระจายอำนาจและมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เช่นเดียวกับ กทม. จะเป็นอย่างไร พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 47.9 เห็นว่า มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย รองลงมาคือร้อยละ 40.5 เห็นว่า มีข้อดีพอๆ กับข้อเสีย ขณะที่ ร้อยละ 11.6 เห็นว่า มีข้อเสียมากกว่าข้อดี ขณะที่การสอบถามต่อว่า จังหวัดของท่านต้องเตรียมพร้อมที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เช่นเดียวกับ กรุงเทพฯกี่ปี พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 51.9 เห็นว่า พร้อมภายใน 1-2 ปี รองลงมา ร้อยละ 31.9 พร้อมภายใน 3-5 ปี ตามมาด้วย ร้อยละ 13.0 พร้อมภายใน 6-10 ปี และมีเพียงร้อยละ 3.2 ที่คาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 10 ปี ทั้งนี้ รศ.ดร.สุทิน กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่คำถามที่ระบุว่า จังหวัดใดในภาคอีสานที่ควรเป็นจังหวัดนำร่องในการกระจายอำนาจและเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เช่นเดียวกับ กทม. มากที่สุด พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 40.3 เห็นว่าควรเป็น จ.ขอนแก่น รองลงมาคือ จ.นครราชสีมา ร้อยละ 27.3 ตามมาด้วย จ.อุดรธานี ร้อยละ 20.0, จ.บุรีรัมย์ ร้อยละ 8.4 ,จ.อุบลราชธานี ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 0.4 ระบุ อื่นๆ หรือไม่แน่ใจ และสุดท้ายเมื่อสอบถามว่า “ใครเหมาะสมเป็น ผู้ว่า กรุงเทพฯ มากที่สุด พบว่า อันดับ 1 มากถึงร้อยละ 50.9 เห็นว่า รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ เหมาะสมที่สุด รองลงมา คือนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ร้อยละ 16.8 ,พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 13.6 ,นาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี ร้อยละ 7.3 ,ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 6.4 ,นายสกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ 2.4 และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ร้อยละ 1.3 .