นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.65 แรงงานสัญชาติเมียนมา จำนวน 222 คน เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ทางน้ำผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง เพื่อเข้ามาทำงานตาม MOU ทั้งหมดมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 โดยเมื่อเดินทางเข้ามาถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดระนอง ได้ตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 2 ปี ตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ก่อนจะเดินทางไปตรวจสุขภาพ 6 โรค ณ โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งหากไม่พบเป็นโรคต้องห้าม 6 โรค และไม่พบเชื้อโควิด-19 แรงงานข้ามชาติจะเข้ารับการอบรม โดยศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง รับใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด และเข้าทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี จำนวน 100 คน พื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 92 คน และจังหวัดชุมพร จำนวน 30 คน โดยแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) มีมติผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ (เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565) หากฉีดวัคซีนครบโดส หรือหากฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง สามารถเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว แต่จะต้องตรวจ ATK หากผลเป็นลบให้ดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนที่กำหนด หรือหากพบผลเป็นบวก กรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลซึ่งในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ และไม่มีผลตรวจ RT – PCR ให้เข้าระบบกักตัวที่ลดเหลือ 5 วัน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยนายจ้าง สถานประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติในการขับเคลื่อนกิจการ และพบความไม่ราบรื่นจากการนำเข้าแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยกำชับกระทรวงแรงงานปรับมาตรการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานให้นายจ้าง สถานประกอบการ ลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งกระทรวงแรงงานได้วางแนวทางการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของประชาชนในประเทศ และสอดคล้องตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด” นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ต้องการนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ให้ปฏิบัติตามแนวทางการปรับลดมาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ดังนี้ 1.มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร 1). ให้แรงงานแสดงเอกสารหลักฐานที่ยืนยันหรือแสดงว่ามีนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับแรงงานเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร (Name List) 2). หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด – 19 3). กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19 ครอบคลุมความคุ้มครอง ในวงเงินไม่น้อยกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ 4). กรณีรับวัคซีนครบโดสนายจ้างแจ้ง วัน เวลาเดินทางที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างล่วงหน้า และกรณีรับวัคซีนไม่ครบโดส และไม่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง แจ้งกำหนดวันเดินทางเข้ามาในประเทศ หลักฐานการยืนยันว่ามีสถานที่กักตัว (อย่างน้อย 5 วัน) 2. มาตรการเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร แรงงานข้ามชาติสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยหากรับวัคซีนครบโดส หรือฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง ไม่ต้องกักตัว สามารถรับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 2 ปี ตรวจสุขภาพ 6 โรค ตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากไม่พบเชื้อโควิด – 19 แรงงาน 3 สัญชาติจะเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับฯ รับใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด และเข้าทำงานในสถานประกอบการได้เลย กรณีพบเชื้อโควิด – 19 ถ้าไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ หากมีอาการกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษา หากมีส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่พบเชื้อ เพื่อรับใบอนุญาตทำงานและเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป กรณีแรงงานข้ามชาติที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT-PCR เมื่อเข้ามาจะต้องกักตัวอย่างน้อย 5 วัน หากครบกำหนดให้ดำเนินการเช่นเดียวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อโรคโควิด - 19 ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรณีที่ตรวจพบเชื้อให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลซึ่งในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด