ทุกปีเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี จะต้องสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกล เพื่อสูบน้ำส่งไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ต.ห้วยกระเจา ต.วังไผ่ ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี โดยสูบน้ำจากสระน้ำหนองหญ้ากาด 1 หมู่ 13 บริเวณวัดซ้องสาธุการ ต.ห้วยกระเจา ไปยังสระน้ำหนองหญ้ากาด 2 หมู่ 16 ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อเป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ หมู่ 1 หมู่ 13 หมู่ 16 หมู่ 21 ต.ห้วยกระเจา และสูบน้ำจากสระน้ำเหมืองแร่เก่าพนมทวน ไปยังสระน้ำอ่างหินระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เพื่อเป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ หมู่ 8 ต.วังไผ่
ห้วยกระเจาเดิมขึ้นกับ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 ต่อมามีการแบ่งพื้นที่ อ.พนมทวน ออกมาเป็นกิ่ง อ.ห้วยกระเจา ปกครอง 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.ดอนแสลบ ต.วังไผ่ ต.สระลงเรือ และ ต.ห้วยกระเจา และประกาศจัดตั้งเป็น อบต.ห้วยกระเจา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ต่อมายกฐานะเป็นเทศบาลตำบลห้วยกระเจา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ ในขณะที่พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยยังคงเท่าเดิม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง เกิดการขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน ซึ่งมีไม่เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงพืชพรรณ รวมถึงเพื่อการดำรงชีวิตของราษฎร นายประโคม สาระศาลิน ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่จึงได้ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำหนองหญ้ากาดไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำหนองหญ้ากาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี พร้อมรับฟังบรรยายสรุปความก้าวหน้าของโครงการฯ จากนั้นได้เยี่ยมชมสภาพพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำได้แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ หากโครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรของราษฎร ต.ห้วยกระเจา และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 258 ครัวเรือน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้จำนวน 20,000 ไร่ ทำให้ราษฎรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
นายประคูณ สาระศาลิน ราษฎร ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจบุรี บุตรชายนายประโคม สาระศาลิน ซึ่งเป็นผู้ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือเรื่องแหล่งน้ำ เป็นตัวแทนกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ว่า เมื่อปี 2557 – 2558 ประสบปัญหาภัยแล้งน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปาหมู่บ้านแห้งขอด ต้องซื้อน้ำจากหมู่บ้านข้างเคียงมาใช้แต่ละครั้งก็ต้องซื้อ 2,000 ลิตร เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 300 บาท จึงได้ขอพระราชทานความช่วยเหลือ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
“ชาวบ้านในตำบลนี้รู้สึกปลาบปลื้มดีใจเป็นอย่างมาก เพราะชั่วลูกชั่วหลานไม่เคยมีน้ำใช้แบบนี้เลย ดีใจมากที่พระองค์ท่านทรงรับโครงการไว้ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ก็รอทำนาปีอย่างเดียว บางปีไถนา 2 - 3 รอบ เพราะฝนทิ้งช่วง บางส่วนก็ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ช่วงฝนตกมีน้ำก็จะปลูกผักอย่างอื่นบ้าง บางรายเลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ ก็เจอภัยแล้งไม่มีน้ำให้สัตว์กิน คนที่พอมีทุนก็เจาะบาดาลพอใช้ในครัวเรือน อย่างเช่นหมู่ที่ 15 เจาะน้ำไม่ออก ชาวบ้านเป็นหนี้ไม่มีเงินจ่ายเพราะไม่มีรายได้ รู้สึกขอบคุณในหลวง พระองค์เป็นเทวดามาโปรด ต่อไปนี้ก็จะสบาย ตอนนี้มีความหวังแล้วว่าชีวิตจะดีขึ้น ขอกราบพ่อหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ารับโครงการที่ได้เคยถวายฎีกาทำให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปากได้ แล้วก็ขอสัญญาว่าจะดูแลโครงการฯ นี้ให้ดีที่สุด” นายประคูณ สาระศาลิน กล่าว





