ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล เกิดมาแล้วต้องเอาดีให้ได้ ไม่ใช่เฉพาะตัวเรา แต่คือทุกคนรอบตัวเรา ธิดาวดีเดิมชื่อธิดาเฉย ๆ แต่ด้วยเหตุผลกลหนึ่งเมื่อเป็นสาวแล้วจึงได้เติมสร้อยท้ายชื่อเข้าไป นัยว่าเพื่อเป็นสิริมงคล แต่เหตุผลจริง ๆ มีมากกว่านั้น ซึ่งคงจะต้องพิจารณาชีวิตทั้งชีวิตของเธอดังต่อไปนี้ เด็กหญิงธิดาเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง พ่อและแม่ทำงานบริษัทเอกชนทั้งคู่ เธอมีพี่และน้องอย่างละคนซึ่งเป็นผู้ชายทั้งคู่ ตามความเชื่อของคนสมัยใหม่ยุคนั้นที่เห่อฝรั่งเรียกลูกคนกลางนี้ว่า “Wednesday Child” เด็กแบบนี้จะเป็นคนอาภัพ เพราะจะได้รับความรักจากพ่อแม่น้อยกว่าพี่และน้อง ยิ่งไปกว่านั้นพี่และน้องของเธอยังเป็นผู้ชาย ที่ตามธรรมเนียมจีนอันเป็นบรรพบุรุษของครอบครัวถือว่ามีค่าน้อยกว่าผู้ชาย ก็ยิ่งทำให้เธอดูเหมือนด้อยค่าลงไปอย่างมาก แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่คนทั้งหลายเชื่อว่าจะเป็น เพราะความจริงนั้นธิดามีจิตใจที่แข็งแกร่ง ทำให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง และประสบความสำเร็จกว่าพี่และน้องที่เป็นทั้งผู้ชายที่ได้รับการประคบประหงมจากครอบครัวเป็นอย่างดีนั้นเสียอีก ธิดามีความสามารถพิเศษอยู่อย่างหนึ่งมาตั้งแต่เด็ก คือเป็นคนที่มีความจำดีมาก ตอนที่เธอพูดได้ ออกเสียงคำว่าพ่อและแม่ได้เมื่อราวขวบกว่า ๆ นั้น เธอยังจำพี่ของเธอเองและเรียกชื่อของพี่ชายตามที่พ่อแม่เรียกนั้นได้อีกด้วย ตอนที่เข้าโรงเรียนอนุบาลซึ่งอยู่ที่ปากซอยหน้าบ้าน ซึ่งซอยนี้ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ต้องเดินจากถนนใหญ่จากปากซอยมาถึงบ้านก็จะมีระยะทางมาไกลพอสมควรและวกวนเป็นอย่างมาก แต่คุณยายที่พาธิดาและพี่ชายไปกลับโรงเรียนทุกวันนั้นรู้จักทางลัด ก็จะพาเข้าซอยแคบ ๆ ที่ทำให้ร่นระยะทางได้เกือบครึ่ง วันหนึ่งคุณยายไปรับช้า ธิดาชวนพี่ชายแอบออกมาด้านข้างโรงเรียน แล้วพาพี่ชายเดินผ่านทางลัดได้อย่างเรียบร้อย และมาเจอคุณยายตรงปากทางลัดนี่เอง ซึ่งนั่นคือวีรกรรมแรกของธิดาในวัย 4 ขวบที่คนทั้งบ้านจดจำ แม้จะเสียงอันตรายและฝ่าฝืนระเบียบของโรงเรียน แต่ธิดาก็ได้รับคำชื่นชมว่า “เก่ง” และ “กล้า” มาก ๆ ธิดายังมีไหวพริบและสติปัญญาเป็นเลิศ เธอสามารถบวกลบเลขได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล พอขึ้นชั้นประถมปีที่ 1 เธอก็ท่องสูตรคูณได้ถึงแม่ 12 ซึ่งเป็นความรู้ในระดับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 รวมถึงสะกดประสมคำภาษาอังกฤษได้หลายสิบคำพร้อมคำแปล ที่เป็นความรู้ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4 นั่นเลยทีเดียว สำหรับไหวพริบของเธอก็แสดงให้เห็นหลายครั้ง เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อตอน 5 ขวบ เธอเป็นคนชอบกินข้าวผัดอเมริกัน ที่บ้านจึงต้องมีซอสมะเขือเทศและเรซิ่น(องุ่นแห้งเม็ดเล็ก ๆ สีดำหรือขาว)ติดครัวไว้เสมอ วันหนึ่งเรซิ่นหมด คุณยายก็พาเธอเดินออกไปซื้อที่มินิมาร์ทกลางซอย ปรากฏว่าเม็ดสีดำที่ใช้ใส่ในข้าวผัดอเมริกันนั้นหมด มีแต่เม็ดสีขาว คุณย่าก็ทำท่าว่าเสียใจและบอกกับธิดาว่าคงไม่ได้กินข้าวผัดอเมริกันแล้วหละ ธิดานิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนที่จะบอกกับคุณยายว่า “คุณยายก็เอาซีอิ๊วดำผัดใส่สิ มันก็จะดำและเอาไปใส่ข้าวผัดได้” นั่นคือวีรกรรมอีกครั้งที่คนทั้งบ้านจดจำ และทำให้ทุกคนในบ้านต้องยอมรับนับถือในความสามารถต่าง ๆ และไหวพริบทั้งหลายของเธอนั้น ธิดาได้รับเลือกจากโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมและมัธยม ให้เป็นตัวแทนในการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการในหลาย ๆ วิชา เช่น คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิชาวิทยาศาสตร์ในชั้นมัธยมตอนปลาย เธอสามารถจำสูตรเคมีของสารต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อนได้อย่างแม่นยำ หรือในวิชาชีววิทยา เธอสามารถท่องชื่อละตินของพืชและสัตว์ทุกสปีซี่ได้อย่างคล่องแคล่ว รวมทั้งวิชาดาราศาสตร์เธอก็รู้จักดวงดาวและวัตถุต่าง ๆ ในอวกาศได้พอ ๆ กับคนที่เรียนจบในด้านนี้มาจากมหาวิทยาลัย แต่ท้ายที่สุดเธอก็เลือกเรียนด้านพาณิชยศาสตร์และการบัญชีในชั้นปริญญาตรี และจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ แม้จะเป็นการจบจากสถาบันการศึกษาในประเทศ แต่เธอก็ทำได้ดีกว่าทั้งพี่ชายและน้องชายมาก เพราะพี่ชายนั้นต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัยเปิด และน้องชายก็ได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน โดยทั้งสองคนเกือบจะไม่จบชั้นปริญญาตรี แม้ว่าพ่อกับแม่จะลำเอียงมาก เพราะต่อมาให้ก็ให้ทั้งสองคนนั้นได้ไป “ชุบตัว” เสียที่สหรัฐอเมริกาในระดับปริญญาโท ทั้งสองหนุ่มนั้นก็เกือบเอาตัวไม่รอดและไม่จบปริญญาโท ยังดีที่ได้ประกาศนียบัตร(ที่ว่ากันว่าพ่อแม่ซื้อให้)กับภาษาอังกฤษกลับมา(เพราะไปเรียนกันคนละ 4-5 ปี) แต่พอกลับมาก็หางานทำไม่ได้ จนพ่อกับแม่ต้องตั้งบริษัทขึ้นแห่งหนึ่ง โดยพ่อกับแม่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ ซึ่งบริษัทนี้ทำงานเชื่อมโยงกับบริษัทใหญ่ที่พ่อกับแม่เคยทำงาน และมีกิจการซื้อขายสินค้ากับต่างประเทศที่ธุรกิจดำเนินไปด้วยดีอยู่แล้ว แล้วให้พี่ชายกับน้องชายรวมถึงตัวของเธอด้วยนั้นเข้าทำงาน และควบคุมดูแลพนักงานในฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นธิดาอีกนั่นแหละที่เป็นหลักให้กับบริษัท และได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทในเวลาต่อมา ส่วนทั้งพี่ชายและน้องชายก็ต้องออกบริษัทไป เพราะพอบริษัทเติบโตขึ้น(ซึ่งก็จากฝีมือของธิดานั่นแหละ) ธิดาก็เอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ และมีต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างบริษัทให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น พี่ชายที่ไม่ชอบงานค้าขายก็ไปทำบริษัทคาร์แคร์ ได้ดูแลรถสวย ๆ ที่ตนเองชอบ ส่วนน้องชายที่เคยทำงานเป็นผู้ช่วยของพ่อ พอแต่งงานแล้วก็ลาออกไปทำกิจการของภรรยา และทราบว่าไม่ต้องทำอะไรมาก เนื่องจากกิจการของภรรยาน้องชายนั้นเป็นธุรกิจของครอบครัวฝ่ายภรรยา ที่เขาก็มีคนดูแลในด้านต่าง ๆ อยู่แล้ว น้องชายของธิดาจึงไปเป็นแค่ที่ปรึกษาบริษัทและ(ว่ากันว่า)รับเงินเดือนจากภรรยานั่นเอง ความจริงนั้นธิดาแต่งงานก่อนพี่ชายและน้องชายเสียอีก คือพอเธอจบปริญญาตรี เธอก็ไปทำงานกับบริษัทเอกชนที่เป็นธุรกิจด้านบัตรเครดิตของต่างประเทศซึ่งได้เงินเดือนดีมาก รวมทั้งได้เจอผู้ชายที่เป็นนักบริหารเก่ง ๆ ซึ่งที่นั่นเธอก็ได้รู้จักกับผู้บริหารคนหนึ่งชื่อนิธิ นิธิมีอายุมากกว่าเธอเกือบสิบปี เคยมีภรรยาและมีลูกแล้ว แต่ต้องหย่ากันเพราะตัวนิธินั้นบ้างานเกินไป นิธิจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา พอกลับมาก็เข้ามาทำงานที่บริษัทนั้นและเติบโตในหน้าที่อย่างรวดเร็ว ตอนที่เจอกับธิดานั้นเขาเพิ่งหย่ากับภรรยา และหันมาสนใจธิดาที่มีตำแหน่งแค่เด็กฝึกงาน แล้วตามจีบตามเอาใจ ซึ่งธิดาก็รู้ตัวอยู่ว่ากำลังถูกจีบอยู่ และก็มีใจเอนเอียงให้กับนิธิอยู่บ้างเหมือนกัน แต่เธอก็อยากจะพิสูจน์ความมั่นคงและจริงใจของนิธิ ด้วยการบอกให้เขาอดทนรอคอยจนกว่าเธอจะเรียนจบปริญญาโท ซึ่งนิธิก็ได้แสดงความเสมอต้นเสมอปลายและมั่นคงอยู่กับธิดาจนเธอเรียนจบ และได้แต่งงานกันในที่สุด เธอมีลูกกับนิธิ 2 คน คนโตเป็นผู้หญิงและคนเล็กเป็นผู้ชาย ผมได้รู้จักเธอตอนที่เธอมาร่วมประชุมโรงเรียน ในการประชุมระหว่างครูกับผู้ปกครองที่มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกเทอม ที่ลูกชายของผมก็ได้เรียนอยู่กับลูกชายของธิดานั้นด้วย ทั้งยังได้เรียนในห้องเดียวกัน จึงมีกิจกรรมต้องพบปะและได้พูดคุยกันอยู่เสมอ ซึ่งในการประชุมทุกครั้งดูเธอจะเป็น “เจ้ากี้เจ้าการ” มาก ๆ จึงมีผู้ปกครองที่อาจจะไม่ชอบเธอนักบอกว่าเธอเป็นเผด็จการ ส่วนคนที่ชอบเธอก็มีอยู่มาก และเรียกเธอว่า “ผู้นำ” ชีวิตของธิดาซึ่งต่อมาก็คือ “ธิดาวดี” นี้ ค่อนข้างจะน่าตื่นเต้นพอสมควร เพราะเธอนั้นมุ่งมั่นที่จะ “พลิกโฉมสังคมไทย” โดยเฉพาะสังคมในระดับครอบครัว ซึ่งเธอบอกว่าเป็นกลุ่มสังคมที่มีความสำคัญมากที่สุด