วันที่ 20 พ.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
ทะลุ 525 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 739,960 คน ตายเพิ่ม 1,453 คน รวมแล้วติดไปรวม 525,478,553 คน เสียชีวิตรวม 6,296,519 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน เยอรมัน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 80.17 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 71.64
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 60.01 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 17.27
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 16.73% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
...อัพเดต Omircon
ทีมวิจัยจาก Beth Israel Deaconess Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาลักษณะของ Omicron สายพันธุ์ต่างๆ ตั้งแต่ BA1, BA.2, BA.2.12.1, BA.4 และ BA.5 เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ไวรัสดั้งเดิม
ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า สายพันธุ์ Omicron นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม
นอกจากนี้สายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง BA.2.12.1, BA.4, BA.5 นั้นสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิมๆ อย่าง BA.1 และ BA.2
...อัพเดต Long COVID
ข้อมูลล่าสุดจาก Patients Diagnosed with Post-COVID Conditions: An Analysis of Private Healthcare Claims Using the Official ICD-10 Diagnostic Code วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 โดย The FAIR Health ประเทศสหรัฐอเมริกา
ศึกษาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะ Long COVID หรือ Post COVID-19 conditions จำนวน 78,252 คน ในช่วง 1 ตุลาคม 2564 ถึง 31 มกราคม 2565
สาระสำคัญคือ
เป็นเพศหญิง 59.8% และเพศชาย 40.2%
มีผู้ป่วย Long COVID สูงถึง 75.8% ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล (ไม่มีอาการหรืออาการน้อย)
โดยหากจำแนกตามเพศ จะพบว่า เพศหญิง 81.6% เพศชาย 61.5% ที่ติดเชื้อแต่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล
ทั้งนี้ 30.7% ของผู้ป่วย Long COVID นั้นไม่เคยมีโรคประจำตัวใดๆ มาก่อน
อาการ Long COVID ที่พบบ่อยคือ การหายใจที่ผิดปกติ อาการไอ ครั่นเนื้อครั่นตัว และเหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย
โดยมีอาการผิดปกติที่พบมากจำเพาะตามช่วงอายุ เช่น MIS-C (ภาวะอักเสบหลายอวัยวะในร่างกาย) ในเด็กเล็กอายุ 0-12 ปี, ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติในคนอายุ 13-22 ปี, ภาวะเครียดและวิตกกังวลในคนอายุ 23-35 ปี, และภาวะความดันโลหิตสูงในคนสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนติดเชื้อโควิด-19 ประชากรกลุ่มที่ศึกษานี้พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อ (myopathies) เพิ่มขึ้น 11.1 เท่า, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า และอาการผิดปกติทางสมองและระบบประสาท และอาการเหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย มากขึ้น 2 เท่า
...ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ เพราะ Long COVID เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่มอาการทั้งไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรงก็ตาม
โควิด...ไม่จบแค่หาย หรือเสียชีวิต แต่ที่จะเป็นปัญหาระยะยาวคือ Long COVID ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการใช้ชีวิต และการทำงาน โดยจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่่วย ครอบครัว และประเทศ
ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก
อ้างอิง
1. Hachmann N et al. Neutralization Escape by the SARS-CoV-2 Omicron Variants BA.2.12.1 and BA.4/BA.5. medRxiv. 19 May 2022.
2. Patients Diagnosed with Post-COVID Conditions: An Analysis of Private Healthcare Claims Using the Official ICD-10 Diagnostic Code. White Paper. The FAIR Health. 18 May 2022.