ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
ปัญหาเรื่องอาหารและพลังงานอาจเกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน ตั้งแต่ความขัดแย้ง การสู้รบ การแซงก์ชั่น ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาการเมือง และที่สำคัญ คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงกับภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมทรุดหนัก
ในปีค.ศ.2050 คือ อีกประมาณ 28 ปี จากนี้ ประชากรของโลกจะเพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 9.3 พันล้าน โดยประมาณ อาหารและพลังงานจึงกลายเป็นปัจจัยที่จะได้รับการกดดันอย่างมาก
ความต้องการสินค้าทั้ง 2 อย่างคืออาหารและพลังงาน (ดีมานด์) จะเพิ่มเป็นประมาณ 60% ของความต้องการในปัจจุบัน แต่ความสามารถในการผลิตสินค้าดังกล่าวจะมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากพื้นดินจะถูกนำมาเป็นที่อยู่อาศัย สร้างชุมชน สร้างเมือง การเสื่อมโทรมของดิน ขอบเขตจำกัดของทรัพยากร เช่น แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อนึ่งขอบเขตจำกัดของเทคโนโลยีในด้านอาหารและพลังาน ตลอดจนการพัฒนาพลังงานทดแทนที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า
ดังนั้นหากกล่าวถึงเรื่องอาหาร อุปนิสัยในการบริโภค โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการบริโภคที่เกินจำเป็น และฟุ่มเฟือย ส่วนด้านพลังงานทดแทนนอกจากจะพัฒนาอย่างเชื่องช้าแล้ว ยังปรากฏว่าวัสดุในการผลิตอุปกรณ์สำหรับพลังงานทดแทน เช่น แผ่นโซลาร์เซลล์ ยังก่อให้เกิดมลภาวะที่มีต้นทุนสูงในการกำจัดขยะ ส่วนการถลุงแร่ Rare Earths ก็สร้างอากาศเสียมากกว่าการถลุงเหล็กหลายเท่า
ปัญหาเหล่านี้จะวนเวียนมาซ้ำเติมสภาพแวดล้อมให้เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนความโลภที่จะกอบโกยโภคทรัพย์ เช่น แร่ธาตุ นอกจากจะทำให้สภาพแวดล้อมย่ำแย่แล้ว ยังอาจนำไปสู่ความขัดแย้งจนเป็นสงครามเพื่อหวังครอบครองสินทรัพย์เหล่านั้น
อย่างไรก็ตามความขาดแคลนเรื่องอาหาร และพลังงานเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เริ่มทศวรรษนี้แล้ว และรุนแรงขึ้นในช่วงปี ค.ศ.2022 นี้ จากรายงานของ Hunger Hotspots ของ World Food Programme และ FAO ระบุว่าประเทศที่จะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างสาหัส คือ เอธิโอเปีย ไนจีเรีย ซูดานใต้ และเยเมน ซึ่งประเทศเหล่านี้นอกจากจะเกิดวิกฤติด้านอาหารแล้ว ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการแซงก์ชั่น ที่สหรัฐฯใช้ในการกดดันรัสเซีย ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้นและขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างรุนแรงมากขึ้น
นี่ยังไม่นับรวมศรีลังกาที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายรานิล วิกรมสิงเห ที่เพิ่งมารับตำแหน่งแทนนายกฯคนเก่า นายมหินทรา ราชปักษา พี่ชายของนายโกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดี จึงประกาศว่าศรีลังกาเหลือน้ำมันใช้เพียงวันเดียว และยังขาดแคลนยาสำคัญอีก 14 ชนิด พร้อมเตือนว่าในช่วง 2 เดือนข้างหน้านี้ศรีลังกาจะเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดของศรีลังกา โดยเฉพาะหน้าอินเดียจะขายน้ำมันเบนซินและดีเซล อย่างละ 2 ลำขนมาด้วยเครดิต ที่แทบไม่เหลือของศรีลังกา
ในขณะที่ศรีลังกาต้องการเงินตราต่างประเทศ 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อของจำเป็นเข้าประเทศ ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มโดยไม่มีทุนสำรอง อันมีผลทำให้เกิดเงินเฟ้อ พร้อมกันนี้ก็ประกาศขายสายการบินแห่งชาติ
ผลกระทบที่ทำให้เกิดการเพิ่มสูงของราคาอาหารและพลังงานในปีค.ศ.2022 นี้ คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเกิดจากวิกฤตการณ์ยูเครน และสหรัฐฯกับพันธมิตรประกาศแซงก์ชั่นการค้าและการเงินกับรัสเซียทำให้เกิดปัญหาในการขนส่งและการค้าขายกระทบไปทั่วโลก เกิดการล่มสลายของห่วงโซ่ ซัพพลาย เศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่ระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงจนในหลายประเทศระดับเงินเฟ้อเกิน 10% ประกอบกับความผันผวนของระบบการเงินอันเกิดจากการแซงก์ชั่น
เท่านั้นยังไม่พอยังเกิดปัญหาในระบบการเงินที่ทำให้เฟดของสหรัฐฯต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน และลดปริมาณเงินเพื่อพยุงค่าของดอลลาร์ แต่ก็เท่ากับไปกระตุ้นให้ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ยังทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในหลายๆประเทศ และทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้อ่อนค่าลง ทำให้ต้องซื้อน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือ อาหารในราคาที่แพงขึ้น ซ้ำเติมระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนของซัพพลายที่ขึ้นไปแล้ว
ทำให้หลายประเทศเริ่มดำเนินนโยบายปกป้องตนเอง อันเป็นอุปสรรคต่อการค้าโลก ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างแรงมาแล้วในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด แม้ว่าในช่วงนั้นผลเก็บเกี่ยวจะออกมาค่อนข้างดี
แต่ในช่วงปีนี้และปีหน้าคาดกันว่าผลผลิตมันจะตกต่ำลงเพราะการปรวนแปรของภูมิอากาศที่จะเข้าสู่ช่วงลานินญา ซึ่งจะเกิดน้ำท่วมพืชผลทำให้เสียหาย เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี เมล็ดดอกทานตะวัน ซึ่งสหรัฐฯถือเป็นพืชหลัก ประกอบกับภัยการรบในยูเครนที่ทำให้การผลิตข้าวสาลีต้องเสียหาย รวมทั้งการแซงชั่นข้าวสาลี น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ทำให้หลายประเทศนอกจากขาดแคลนพลังงานแล้วยังขาดแคลนปุ๋ยที่ต้องนำเข้าจากรัสเซียอีกด้วย
ดังนั้นถ้าสถานการณ์ยังคงดำรงต่อไปในลักษณะนี้ คาดว่าสิ้นฤดูหนาวที่จะมาถึงหลายประเทศในยุโรปจะขาดแคลนอาหารและพลังงานอย่างรุนแรง ส่วนประเทศที่ยากจนในอาฟริกา ตลอดรวมไปถึงศรีลังกา คงต้องเจอกับวิกฤตหนัก แม้แต่หลายประเทศในตะวันออกกลางที่อาจไม่มีปัญหาเรื่องพลังงาน แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องอาหาร
ลองมาพิจารณาดูว่าผลกระทบเฉพาะการแซงก์ชั่นผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรจากรัสเซีย จะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ
รัสเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับ 3 คิดเป็นปริมาณ 15% ของโลก ซึ่งหลักๆคือ ข้าวสาลี รองมาคือข้าวโพด ข้าว ข้าวบาร์เลย์ และธัญพืชอื่นๆ นอกจากนี้ยังส่งออกเมล็ดทานตะวัน 23% ของโลก
รัสเซียเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ในการส่งออกปุ๋ยของโลก ในปี ค.ศ.2019 รัสเซียส่งออกปุ๋ยเพิ่มขึ้นถึง 13.2%
ที่สำคัญระบบการขนส่งทางเรือ มีปัญหาติดขัดอันเนื่องมาจากการแซงก์ชั่น ทำให้ระบบทั้งระบบปรวนแปรในการจัดสินค้าและเดินเรือ
นี่ยังไม่นับกองเรือรัสเซียที่ถูกแบนจากการเทียบท่าเพื่อขนส่งสินค้า นั่นทำให้ค่าระวางเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งค่าประกันภัย ค่าประกันความเสี่ยง ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยการสู้รบ
ในปีนี้หลายประเทศจึงจะประสบปัญหาในการขนส่ง และการผลิตด้านการเกษตร แม้แต่ชาวนาในฝรั่งเศสก็ต้องชะลอการปลูกพืช เพราะขาดแคลนปุ๋ย และเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรกล และยังไม่อาจหาแหล่งใดมาทดแทนได้
เกษตรกรไทยก็เช่นกัน จะมีปัญหาปุ๋ยราคาแพง หรือปุ๋ยปลอมมากขึ้นพร้อมๆไปกับปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิง และปัญหาการแปรปรวนของภูมิอากาศ
แม้ว่าประเทศไทยอาจจะยังอยู่ห่างจากการขาดแคลนอาหาร แต่การที่พืชผลราคาแพง เกษตรกรรายได้ตกต่ำ ภาคอุตสาหกรรม เกิดการว่างงานในระดับสูง ภาคบริการโดยเฉพาะ SME ล่มสลาย หนี้สาธารณะเพิ่มสูง หนี้ครัวเรือนแตะระดับ 90% ของ GDP มานานพอควร นี่ยังไม่นับหนี้นอกระบบ การค้าการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เหมือนตัวเลขที่แสดง เพราะมันเพิ่มจากการติดลบ
ดังนั้นคำตอบของรัฐบาลที่จะมาแสดงปาฐกถาตั้งแต่วันที่ 19-20 พ.ค.ในหัวข้อ “Better Thailand Open Dialogue” “ประเทศไทยที่ดีกว่า เดิม” จึงควรเป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรม และประเมินผลได้ไม่ใช่อะไรๆ ก็อ้างเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่เคยสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
ส่วนนโยบายต่างประเทศก็คงต้องยืนหยัดในความเป็นกลาง และสนับสนุนให้มีการเจรจากันระหว่าง 2 ขั้วอำนาจแทนการใช้กำลัง เพราะถ้าสถานการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้ หรือเลวร้ายมากขึ้น ประเทศไทยหนีไม่พ้นความเดือดร้อน และอาจถึงขั้นจลาจลที่จะเกิดขึ้นในหลายๆประเทศโดยเฉพาะในยุโรป