แม้จะผ่านหน้าร้อนเข้าสู่หน้าฝนแต่ความชุ่มฉ่ำคงมาเยือนได้เพียงชั่วคราวสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขงที่ยังต้องผจญกับ “ภัยแล้ง” ที่จะกระทบกับภาคเกษตรกรรมที่ฝากชีวิตไว้กับความเมตตาของธรรมชาติ เพราะระบบชลประทานในความรับผิดชอบของรัฐบาลยังเข้าไม่ถึง เนื่องจากรัฐบาลลุ่มน้ำโขงมักให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองด้านความมั่นคงทางด้านการเมือง มากกว่าจะมาคิดสร้างความมั่งคั่งในชีวิตแก่เกษตรกรที่เป็นรากหญ้าและฐานการผลิตอาหารป้อนคนในชาติ เกือบทุกปีที่ภัยแล้งมาเยือนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง หากปีใดที่แล้งถึงขั้นวิกฤติจนบางส่วนของแม่น้ำโขงแห้งขอด ปัญหาจะถูกหยิบยกมาพูดถึงและได้รับการถ่ายทอดเป็นเรื่องใหญ่และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจนเป็นปัญหาระดับนานาชาติ แต่แทนที่จะหาคำตอบว่าจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร หรือป้องกันปัญหาในระยะยาวได้หรือไม่ ปัญหาแม่น้ำโขงกลับถูกโยนความรับผิดชอบไปที่ “เขื่อนจีน” ที่มีการสร้างขวางกั้นแม่น้ำล้านชาง หรือ “หลานชางเจียง”ในจีนที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำโขง แต่ระยะหลังมีการ “ชี้เป้า”แบบฟันธงว่าจีนคือผู้รับผิดชอบปัญหาทั้งหมดทั้งมวลของแม่น้ำโขงที่อยู่นอกแผ่นดินจีนด้วย เขื่อนที่สร้างในประเทศจีน บนแม่น้ำหลานชางเจียงที่มีความยาว 2,047 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในดินแดนของจีน ได้ถูกตีตราบาปว่าเป็นตัวการสร้างปัญหาแก่แม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน 5 ประเทศ คือ เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในระยะทางอีกประมาณ 2,800 กิโลเมตร โดยนับวันข้อกล่าวหาจะเข้มข้นขึ้นอย่างผิดสังเกตุจนปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการดำเนินการอย่างเป็นขบวนการทั้งอย่างแอบแฝงและเปิดเผย โดยเฉพาะสนับสนุนทุนผ่านเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) บางองค์กรที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับแม่น้ำโขง
หน่วยงานหนึ่งที่ปรากฏชื่อว่ามีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลเชิงลบของเขื่อนจีนคือ Stimson Center บริษัทวิจัยภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาที่ได้ทุนอุดหนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา ทำโครงการ Mekong Dam Monitor ติดตามตรวจสอบระดับน้ำในเขื่อนจีนและเขื่อนประเทศต่างๆในลุ่มน้ำโขงด้วยระบบดาวเทียม งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ชื่อ Eyes on Earth เปิดเผยผลการศึกษาที่ชี้ว่า เขื่อนกั้นแม่น้ำล้านช้างในจีนได้กักเก็บน้ำไว้ปริมาณมหาศาลในช่วงที่ประเทศลุ่มน้ำโขงประสบภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรง โดยระดับปริมาณน้ำเฉลี่ยในจีนสูงกว่าประเทศที่อยู่ตอนล่าง อย่างไรก็ตามหลังจากที่หนังสือพิมพ์ Global Times ได้เปิดเผยถึงรายงานอย่างละเอียดของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน ที่ชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดร้ายแรงของข้อมูลจากโครงการ Mekong Dam Monitor ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ โครงการซึ่งมักจะใส่ร้ายเขื่อนจีนว่าเป็นตัวการที่ทำให้ประเทศปลายน้ำโขงต้องขาดน้ำ ก็ได้ออกมาโพสท์บนเฟสบุ๊คยอมรับว่าข้อมูลของตนมีข้อผิดพลาดและมีการแก้ไขแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยาของจีนชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลของโครงการที่ได้รับการแก้ไขแล้วยังคงมีข้อผิดพลาดอยู่อีกมากมาย สหรัฐฯถนัดในการสร้างความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับประเทศปลายน้ำ สหรัฐฯจุดประเด็นให้พวกเขาเรียกร้องจีนว่าในอนาคตจีนต้องระบายน้ำให้ในช่วงหน้าแล้ง อีกทั้งอ้างว่าจีนสร้างเขื่อนมากมายก็ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ นักวิจัยอเมริกันเคยรายงานแบบยกเมฆว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงนั้นเกือบ 50% ไหลมาจากจีน แต่ข้อมูลจาก Mekong River Commission : MRC หรือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุว่า แม่น้ำโขงรับน้ำจากแม่น้ำล้านช้างของจีนเพียง 16% จากเมียนมา 2% จากลาว 35% จากไทย 18% จากกัมพูชา 18% และจากเวียดนาม 11%
ในช่วงหน้าแล้งที่ทุกประเทศเผชิญจากปัญหาอุณหภูมิโลกเปลี่ยนไป น้ำจากจีนที่มีสัดส่วน 16% อาจเหลือน้อยกว่านั้นจึงไม่อาจช่วยอะไรได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแม่น้ำสาขาของ 5 ประเทศที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงว่ามากน้อยเพียงใด เช่นในประเทศไทยอย่างที่รู้กันอยู่ว่าบางปีแล้งจัด ฝนตกน้อยจนถึงขั้นวิกฤติที่น้ำตามแม่น้ำลำคลอง ในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำเหลือน้อยมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ในปีนั้นแม่น้ำสาขาจึงแทบไม่เหลือน้ำที่จะส่งไปลงยังแม่น้ำโขง สื่อมวลชนที่ไม่เชื่อใน “ข้อมูลฝ่ายเดียว”จากฝั่งตะวันตก หากมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะพบว่า จาก “เขื่อนจิ่งหง” ซึ่งเป็นเขื่อนสุดท้ายของจีนบนแม่น้ำล้านช้างซึ่งห่างจากไทยประมาณ 900 กิโลเมตร ยังมีประเทศสปป.ลาวที่ก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยปัจจุบันสร้างเสร็จไปแล้ว 3 เขื่อนได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี ผลิตไฟฟ้าขนาด 1,285 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2019 เขื่อนนี้อยู่ห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 195 กิโลเมตร เขื่อนดอนสะโฮง กำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ สร้างเสร็จและเปิดขายไฟฟ้าทั้งหมดแก่ประเทศกัมพูชาเมื่อปลายปี 2020 เขื่อนหลวงพระบาง อยู่เหนือเขื่อนไซยะบุรีขึ้นไป ตามแผนจะก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2021 กำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 1,460 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ห่างจากนครหลวงพระบางทางตอนเหนือของลาวราว 25 กิโลเมตร เป็นความร่วมมือกับเวียดนาม จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปีค.ศ.2027
นอกจากนี้รัฐบาลลาวยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลาย แต่ทั้งสองโครงการถูกระงับไว้ตั้งแต่ปลายปี 2019 เพื่อศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดนเนื่องจากมีการต่อต้านคัดค้านจากชุมชนริมน้ำโขงทั้งไทยและลาว รวมถึงการโจมตีคัดค้านจากบรรดาNGO ปัจจุบัน Stimson Center ผู้รับทุนจากสหรัฐฯได้ดึง สปป.ลาว มาเป็นจำเลยร่วมกับจีนภายใต้ข้อกล่าวหาว่า การสร้างเขื่อนและเก็บกักน้ำแม่น้ำโขง ล้วนสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่ Stimson Center คงลืมไปว่าถ้าเปรียบเทียบกับผลกระทบจากการที่กองทัพสหรัฐอเมริกาเคยขนระเบิดไปทิ้งใส่ลาวมากกว่า 2 ล้านตันในระยะเวลา 9 ปีช่วงสงครามอินโดจีน(1964-1973) เพียงเพราะคำว่า “คอมมิวนิสต์” ที่คิดต่างกับประชาธิปไตย ก็น่าจะบอกได้ว่าสหรัฐฯมีศักยภาพในการทำลายล้างสูงกว่าการสร้างเขื่อนกี่ล้านเท่า
บทความพิเศษ โดย “นามบูรพา”